Thursday, October 15, 2009

ซูเราะห์ อัลฟาตีหะฮฺ

ซูเราะห์ อัลฟาตีหะฮฺ




1. ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานี เสมอ

2. บรรดาการสรรเสริญ เป็นของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

3. ผู้ทรงเมตตา กรุณาปราณี เสมอ

4. ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งวันตอบแทน

5. พระองค์เท่านั้น ที่เราเคารพภักดี และพระองค์เท่านั้น ที่เราขอความช่วยเหลือ

6. โปรดนำเราสู่ทางอันเที่ยงตรง

7. ทางของบรรดาที่พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่เขาทั้งหลาย ไม่ใช่ของพวกที่ถูกกริ้ว และ ไม่ใช่พวกที่หลงผิด


ซุเราะห์อัลฟาตีหะฮฺ (อารัมภบท) มี 7 อายะฮฺ เป็นบทแรก ๆ บทหนึ่ง ที่ถูกประทานที่นครมักกะฮฺ เรียกว่า มักกียะฮฺ

ซูเราะห์อัลฟาตีหะฮฺ เป็นซูเราะห์ที่สำคัญยิ่งของอัลกุรอาน มีชื่อเรียกกันมาก แต่ที่เลื่องลือนั้น เรียกกันดังนี้

1. "อุมมุ้ลกิตาบ" = แม่บทของพระมหาคัมภีร์ หรือ "อุมมุ้ลกุรอาน" = แม่บท ของกุรอาน เพราะซูเราะห์นี้ รวมเอาความหมายของอัลกุรอานเข้าไว้หลายประการด้วยกัน

2. อัชชับอุ้ลมะอานีย์ = เจ็ดอายะฮฺที่ทวนซ้ำ เพราะต้องทวนซ้ำการอ่านในละหมาด คือ ทุกๆ รอกะอัต ต้องอ่านซูเราะห์นี้

3. อัลอะซาซ = รากฐาน เพราะว่าเป็นรากเง่าของอัลกุรอานและเป็นซูเราะห์ แรก ของอัลกุรอาน

อัลฟาตีหะฮฺ = บทแรก เพราะว่าเป็นบทแรกของอัลกุรอาน ในการเรียงอันดับ


ประโยคที่ 1

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานีเสมอ


ประโยคที่ 2

การสรรเสริญทั้งสิ้นนั้น เป็นของอัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าโลกทั้งมวล

คำอธิบาย

"อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" การสรรเสริญทั้งสิ้นนั้น เป็นของอัลลอฮฺ "อัลหัมดุ" ตามศัพท์ภาษาอาหรับ แปลว่า "การยกย่อง ต่อการทำความดีงาม" เช่น ฉันได้สรรเสริญ "ซัยด์" บนการกระทำของเขา และบนความกรุณาเผื่อแผ่ของเขา ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ "อัลละซัม" ซึ่งแปลว่า ติเตียน

ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ดำรัสว่า "การสรรเสริญนั้น เป็นยอดของการขอบคุณ และการขอบคุณผู้ที่ไม่ได้สรรเสริญอัลลอฮฺ ก็ไม่ได้ขอบใจและขอบคุณอัลลอฮฺ และการติเตียนนั้น เป็นการตรงกันข้ามกับการสรรเสริญ และการไม่เชื่อถือพระเจ้านั้น เป็นการตรงกันข้าม กับการขอบใจและขอบคุณพระเจ้า"

"อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" เป็นประโยค "คอบะรียะฮฺ" จึงมีความหมายว่า การสรรเสริญทุกอย่าง ที่เป็นทางดีแล้ว ก็เป็นของอัลลอฮฺ เพราะว่าพระองค์เป็นเจ้าของแห่งการสรรเสริญ และมีสิทธิในการสรรเสริญทั้งสิ้น
ประโยค "อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" ในกอมูล-อั้ลอัสรีย์ แปลไว้ 2 อย่าง

1. แปลว่า การเสริญนั้นเป็นของพระเจ้า และ

2. แปลว่า ขอบคุณพระเจ้า

"ร็อบบิ้ลอาละมีน" ผู้เป็นเจ้าโลกทั้งปวง

"ร็อบบิ" เดิมเป็น "มัชด๊าด" (อาการนาม) ซึ่งมีคำแปลว่า การเลี้ยงดู ภายหลังเอามาใช้เป็น "ซิฟะตุลมุบาละคฺอฮฺ" หรือคุณลักษณะของพระเจ้า จึงเรียกว่า "อัลมะลิกุ" (เจ้าของ) พระองค์ดูแลระวังรักษาสิ่งซึ่งพระองค์ครอบงำและเลี้ยงดูอยู่

การเลี้ยงดูของพระเจ้าต่อมนุษย์นั้น มี 2 ชนิด

1. เรียกว่า "การเลี้ยงดูแห่งร่างกาย" คือ การให้ร่างกายมนุษย์เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งถึงที่สุดของมัน และการให้กำลังของมนุษย์แข็งแรงขึ้นและการให้สติปัญญาของมนุษย์ ฉลาดขึ้น

2. เรียกว่า "การเลี้ยงดูแห่งศาสนา แห่งการศึกษา" คือให้วะฮฺยูลงมาแก่คนคนหนึ่งจากพวกมนุษย์ เพื่อจะให้เขาผู้นั้น ทำสิ่งซึ่งกระทำให้สติปัญญาของเขาสมบูรณ์ และให้ชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์ และให้ชีวิตของพวกเขาแจ่มใสมาสู่มนุษย์ และให้มนุษย์เริ่มเคารพภักดีกับพระองค์ ไม่ให้เคารพภักดีกับสิ่งอื่น และเพื่อจะไม่ให้ผู้ใด "อัลอาละมีน" เป็นคำพหูพจน์ของคำ "อาลัม" ซึ่งแปลว่า "โลก" หมายถึงสิ่งที่ถูกบรรดาลให้มีขึ้นทั้งหมด เมื่อรวมคำสองคำนี้ เข้าด้วยกัน จึงมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า "ผู้เป็นเจ้าโลกทั้งปวง" และคำว่าโลกในที่นี้ หมายถึงสรรพสิ่งที่มีขึ้นทั้งสิ้น จึงทำให้เรารู้จักพระเจ้าผู้สร้างได้เป็นอย่างดี

สรุป ความประโยคที่ 2 มีความหมายดังนี้ "แท้จริงทุกๆ การสรรเสริญที่ดีนั้น เป็นของอัลลอฮฺ " เพราะว่าพระองค์เป็นผู้บังเกิดสิ่งที่ขึ้นทั้งมวลนี้ ซึ่งพระองค์ได้ครอบงำโลกทั้งปวงไว้ และเลี้ยงดูโลกทั้งปวงไว้ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงที่สุดของมัน และหวังให้ชาวโลกรู้ถึงสิ่งที่เป็นความดีและสมควรแก่พวกเขา ฉะนั้นการสรรเสริญ จึงต้องเป็นของพระองค์ ในการที่พระองค์ได้ส่งคำแนะนำนั้นมาให้ และขอบใจและขอบคุณ ในสิ่งซึ่งพระองค์ได้ให้ปกครอง


ประโยคที่ 3

ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานีเสมอ

คำ "เมตตา" พจนานุกรมแปลว่า ความรักและเอ็นดูและปรารถนาให้ผู้อื่น ได้สุข

คำ "กรุณา" แปลว่า ความสงสาร ช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์

และคำดำรัสของท่านศาสดามุฮัมมัด ความว่า

" อัรเราะห์มานนั้น เป็นลักษณะเมตตาแก่โลกดุนยา และอัรร่อหีมนั้น เป็นลักษณะกรุณา แก่โลกอาคีเราะห์ "


ประโยคที่ 4

ผู้ทรงเป็นใหญ่วันแห่งตอบแทน

"มาลิกิ" แปลว่า ผู้ครอบครอง

"อัดดีน" แปลว่า ศาสนา ตามศัพท์หมายถึง มีการเชื่อถือ มีการพิจารณา มีการให้รางวัล และมีการตอบแทน ซึ่งตรงกับความหมายในที่นี้

"เยามิดดีน" จึงหมายถึง วันที่กำหนดไว้แล้วอย่างแน่นอนวันหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้กระทำการต่างๆ ไปแล้ว จะได้รับการตอบแทนการกระทำของเขา

ประโยค "มาลิกิเยามิดดีน" นี้ ตามรอยประโยค "อัรเราะฮฺมานิรรอหีม" เช่นเดียวกับ "ความกลัว" ตามหลัง "ความตื่นเต้น" จึงมีความหมายในภาษาไทยว่า "อัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าโลก ผู้ทรงเมตตา กรุณาเสมอ และเป็นผู้ครอบครองในวันอัดดีน"


ประโยคที่ 5

เฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่เราเคารพภักดี และพระองค์เท่านั้น ที่เราขอความช่วยเหลือ

"อี้ยากะ" พระองค์เท่านั้น เป็นคำสรรพนามที่เป็น "มัฟอูลุ้ลมุตะก็อดดัม" กรรมก่อนกิริยา ตามวิชา "มะอานีย์ เขาเรียกว่า "ตัคซีซ" คือ บ่งว่าจำกัดหรือเฉพาะ ฉะนั้น คำ"อี้ยากะ" ในประโยคนี้ จึงมีความหมายว่า ผู้ที่ควรแก่การเคารพภักดีอย่างยิ่งนั้น คือ อัลลอฮฺ องค์เดียวเท่านั้น จะเป็นผู้อื่นหรือสิ่งอื่นไม่ได้เด็ดขาด

"อัลอิบาดะฮฺ" การเคารพภักดีนั้น คือ การยอมจำนนเข้านอบน้อมเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่ง และศรัทธาในเอกภาพของพระองค์ คือ ตออัตกับอัลลอฮฺ

การขอความช่วยเหลือนั้น คือ การแสวงหาความช่วยเหลือและแสวงการการอุดหนุนให้การงานสำเร็จสมบูรณ์ขึ้นมา โดยที่ผู้ขอนั้น ไม่สามารถที่จะให้การงานนั้น สำเร็จสมบูรณ์ขึ้นมาได้ด้วยลำพังตนเอง


ประโยคที่ 6

โปรดนำเราสู่หนทางอันเที่ยงตรง

ประโยคนี้ ตามวิชามะอานีย์ เรียกประโยค อินชาอฺ ชนิด ต้อละบี ซึ่งประกอบขึ้นด้วย "ฟิแอลอะมัร" คำกิริยาใช้ แต่คำแปลเดิมถูกเปลี่ยน มาใช้คำแปลใหม่ เป็นคำขอพร ซึ่งแปลว่า "โปรด" ทั้งนี้ เพราะว่าประโยคนี้ เป็นคำพูดที่ผู้น้อยกล่าวดกับผู้ใหญ่ หรือบ่าวพูดกับนาย

อัลฮิดายะฮฺ การนำพา คือ นำพาไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

อัซซิรอตุ หนทาง คือ แนวทาง หรือ ทางที่เดินไปสะดวก

อัลมุสตะกีม เที่ยงตรง คือ ไม่คดเคี้ยว หันเห


ประโยคที่ 7

หนทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขาทั้งหลาย

ไม่ใช่ของพวกที่ถูกกริ้วและไม่ใช่พวกหลงผิด

อามีน

พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า (วะฮีย์) หรือสิงที่มนุษย์ประพันธ์ขึ้น....?







พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า (วะฮีย์) หรือสิงที่มนุษย์ประพันธ์ขึ้น....?



คัมภีร์อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ของอิสลามที่ประมวลบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักศีลธรรม และจริยธรรมอิสลามอย่างครบถ้วน และสามารถยืนยันได้ว่าคัมภีร์อัลกุรอานนั้นเป็นการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ การเชื่อมั่นและการศรัทธาในเรื่องนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา


ด้วยเหตุนี้ศัตรูอิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างใช้ความเพียรพยายามที่จะปฏิเสธความถูกต้องและที่มาของคัมภีร์อัลกุรอาน โดยพวกกราบไหว้รูปปั้นชาวมักกะฮ์ที่ต่อต้านอิสลามในสมัยนั้น ได้ใช้ความพยายามที่จะปฏิเสธว่าคัมภีร์อัลกุรอานไม่ใช่การดลใจ(วะฮีย์)จากพระเจ้า ตามคำกล่าวอ้างที่ปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลฟุรกอน โองการที่ 4 ความว่า


"แท้จริงอัลกุรอานนี้ มิใช่อื่นใด นอกจากคำโกหกที่มุฮัมมัด ได้แต่งขึ้นเองและหมู่ชนอื่นๆ ได้ช่วยเขาในเรื่องนี้"


และโองการที่ 5 ความว่า


"อัลกุรอานเป็นนิยายของประชาชาติสมัยก่อนๆ ที่เขียนขึ้นและถูกนำอ่านให้ขึ้นใจทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น"


รวมทั้งการกล่าวหาศาสดามุฮัมมัด ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลนะล์ โองการที่ 103 ความว่า


"แท้จริงสามัญชนคนหนึ่งสอนเขา"


หรือว่าแท้จริงอัลกุรอานนั้น เป็นผลงานของนักมายากล หรือพวกที่ใช้ไสยศาสตร์ โดยที่พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะหาทางปฏิเสธว่า คัมภีร์อัลกุรอานไม่ใช่การดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานผ่าน ศาสดามุฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำแก่มวลมนุษย์ชาติ


มีนักบูรพาคดีกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาสนาอิสลาม ได้สนับสนุนข้ออ้างที่ผิดๆ ของพวกกราบไหว้รูปปั้น(เจว็ด)ชาวมักกะฮ์ โดยได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้คัมภีร์อัลกุรอานไม่ใช่เป็นการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานผ่านทางท่านศาสดามุฮัมมัด ทั้งที่อัลกุรอานได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง


มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า แท้จริงศาสดามุฮัมมัด เป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เหตุนี้ท่านศาสดาจึงมอบหมายให้เหล่าสาวก และผู้ใกล้ชิดจดบันทึกโองการต่างๆ และถ้าหากว่าท่านศาสดาเป็นผู้รู้หนังสือแล้ว คงไม่วานให้ผู้อื่นดำเนินการ การกล่าวหาว่าศาสดาได้นำเรื่องในคัมภีร์ของยิวและคริสต์(ไบเบิล)มาใช้นั้น เป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือจะสามารถอ่าน เข้าใจ และถ่ายทอดเนื้อหาของคัมภีร์อื่นได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงเห็นได้ชัดว่าข้ออ้างต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หรือมีข้อพิสูจน์ใดๆเลย


ท่านศาสดามุฮัมมัด ทรงเผยแพร่ศาสนาอิสลามในนครมักกะฮ์ เป็นเวลา 13 ปี และไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าท่านได้ติดต่อกับชาวยิวตลอดระยะเวลาดังกล่าว และสำหรับชาวคริสต์นั้น มีหลักฐานที่ท่านเคยติดตามลุงที่ชื่อ "อบี ฏอเล็บ" เดินทางไปค้าขายที่ซีเรียในขณะที่มีอายุเพียง 9 ขวบ หรือ 12 ปีเท่านั้น โดยระหว่างที่กองคาราวานหยุดพักท่านศาสดาได้พบและสนทนากับบาทหลวง"บูไฮรี่"เพียงไม่กี่นาที เด็กอายุขนาดนั้นจะเข้าใจหลักเกณฑ์ และบทบัญญัติพื้นฐานของศาสนา ในระหว่างพบปะช่วงสั้นๆ ได้อย่างไร และเหตุใดเล่าที่บาทหลวงผู้นั้นได้เลือกเด็กชายอายุเพียงไม่กี่ปีเป็นคู่สนทนา เพื่อให้รู้จักหลักการของคริสต์ ทั้งๆที่มีผู้ใหญ่จำนวนมากมายในกองคาราวาน และถ้าอย่างนั้นจึงมีคำถามว่าทำไมมุฮัมมัด จึงต้องรอคอยเป็นเวลา 30 ปีเพื่อที่จะประกาศศาสนาอิสลาม


คัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่สอดคล้องกับศาสนาอื่นๆ ที่มีการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า และศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว โดยพระองค์เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระองค์ จึงต้องกลับไปหาพระองค์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ดี อัลกุรอานได้ปฏิเสธคำสอนหลายประการของศาสนายิว และคริสต์ ฉะนั้นเหตุใดเล่าจึงกล่าวว่าศาสดามุฮัมมัด ได้เลียนแบบคัมภีร์ของยิวและคริสต์ ถ้าสมมุติฐานเหล่านั้นเป็นจริง ย่อมหมายความว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างศาสนา และมันก็ไม่มีความหมาย


และไม่มีคัมภีร์อื่นใดที่มีระบบเนื้อหา ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ในบทบัญญัติกว่า 1,400 ปี แต่สิ่งเหล่านั้นเพิ่งจะถูกค้นพบในกลางศตวรรษที่ผ่านมา (ประมาณ 500 ปี) เมื่อนักดาราศาสตร์ไม่สามารถที่จะให้คำอธิบายปรากฏการต่างๆเหล่านั้นทางวิชาการ จึงได้ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้น มาจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรเล่าที่ศาสดาผู้ไม่รู้หนังสือจะสามารถมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำหน้า และจะกล่าวอ้างไม่ได้ว่าแหล่งข้อมูลเหล่านั้นมาจากคัมภีร์ของยิวหรือคริสต์ ซึ่งในคัมภีร์ของพวกเขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้เลย


หากว่าคัมภีร์อัลกุรอานเลียนแบบมาจากคัมภีร์ศาสนาก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านและบรรดาผู้ที่ต่อต้านจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร พวกเขาเหล่านั้นจะต้องกล่าวหาศาสดาอย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่าพวกเขากลับนิ่งเฉย เนื่องจากข้อกล่าวหาไม่มีมูลความจริงและขาดซึ่งหลักฐาน มาลบล้าง


คัมภีร์อัลกุรอานได้ประมวลบทกฏหาย บทบัญญัติ กฏเกณฑ์ คำสั่งและคำชี้แจง ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในคัมภีร์ของศาสนาใดๆ ก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นคัมภีร์อัลกุรอานยังได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาชาติยุคก่อน ตลอดจนเรื่องราวเร้นลับ ซึ่งปรากฏขึ้นจริงตามที่แจ้งไว้ในอัลกุรอาน เช่น จุดจบข้อพิพาทระหว่างโรมันกับเปอร์เซีย เหตุการณ์นี้ศาสดาและเหล่าสาวก ตลอดจนบรรดาชาวคัมภีร์ต่างๆ ก็ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลย


แท้จริงอัลกุรอานส่งเสริมให้ศึกษาหาความรู้ ให้เกียรติผู้ที่ใช้สติปัญญา สืบเนื่องจากคำสั่งสอนของศาสนาอิสลามชาวมุสลิมจึงสามารถสร้างอารยธรรมขึ้นมาและทดแทนอารยธรรมก่อนๆ และดำรงอยู่หลายศตวรรษ หากอัลกุรอานได้ลอกแบบตามคัมภีร์อื่นแล้วไซร้ เหตุใดจึงไม่มีคำสั่งสอนและบทบาทเช่นเดียวกับศาสนาอิสลามเล่า


คัมภีร์อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาและสำนวนโวหารที่เป็นเลิศ หากว่าอัลกุรอานเลียนแบบคัมภีร์อื่นแล้วละก็ จะต้องมีข้อความที่ขัดแย้ง ขาดความชัดเจนเพราะจะมีแหล่งกำเนิดจากหลากหลายแห่งด้วยกัน นอกจากนั้นอัลกุรอานได้กล่าวถึงการใช้เหตุผลของมนุษย์อยู่เสมอ แท้จริงอัลกุรอานได้ตั้งอยูบนหลักฐานของข้อพิสูจณ์ที่เด่นชัด นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ดังปรากฏในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 111 ความว่า


"จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า พวกท่านจงนำหลักฐานของพวกท่านมาหากพวกท่านเป็นผู้ที่พูดจริง"


และซูเราะฮ์ อันนัมล์ โองการที่ 64 ความว่า


"จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) จงนำหลักฐานของพวกท่านมาหากพวกท่านเป็นผู้สัจจริง"


มีการกล่าวอ้างว่าอัลกุรอานได้ยึดวัฒนธรรมก่อนอิสลามมาด้วย แต่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่า อิสลามได้ปฏิเสธหลักการต่างๆ ก่อนอิสลาม ขนบธรรมเนียมที่ป่าเถื่อนและแบบอย่างที่ได้ยกเลิกไปแล้ว โดยได้นำหลักฐานที่ถูกต้องแทนที่ความชั่วร้ายดังกล่าว ด้วยหลักเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมและแบบอย่างที่ดีงาม และอิสลามปฏิเสธความเชื่อถือในยุคก่อนกำเนิดของศาสนาอิสลาม


ดังนั้นที่มาของบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน จึงได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงพลานุภาพ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงกรุณาเมตตา ปรานี พระองค์ อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลา


ศาสตราจารย์ ดร. มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก


د. محمود حمدي زقزوق



อัลกุรอานเป็น คำตรัสของ “อัลลอฮ์”


อัลกุลอ่านเป็น กะลามมุลลอฮ์


1. อัลกุรอาน เป็น กะลามมุลลอฮ์ หรือคำตรัสของอัลลอฮ์ ทั้งอักษรทุกตัวและความหมายทั้งหมด มิได้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งถูกสร้าง หากแต่อัลลอฮ์ทรงตรัสประทานลงมา อัลกุรอานมาจากอัลลอฮ์และต้องคืนกลับไปยังพระองค์ อัลกุรอานเป็นความมหัศจรย์(มัวะญิซาต)ที่ยืนยันให้เห็นถึงความเป็นนะบี อันสัจจริงของท่านนะบีมุฮัมมัด อัลกุรอานได้รับความคุ้มครองปกป้องรักษาโดยอัลลอฮ์ ตั้งแต่ที่ประทานลงมาจวบจนวันกิยามะฮ์


2. อัลลอฮ์ทรงตรัสตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และในเวลาที่พระองค์ทรงประสงค์ ถ้อยคำของพระองค์เป็นสัจจริงทั้งตัวอักษรและเสียง แต่จะเป็นลักษณะใดนั้นเราไม่สามารถทราบได้ และเราจะไม่โต้เถียงกันในเรื่องนี้

3. การพูดว่า กะลามมุลลอ์ หรือ อัลกุรอานเป็นนิทาน หรือคำเปรียบเปรย ทำนองนี้ล้วนเป็นความหลงผิด เป็นการมีความเคลือบแคลงและไขว้เขว ซึ่งะส่งผลให้กลายเป็นผู้ปฏิเสธ


4. ผู้ใดปฏิเสธที่จะเชื่อสิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอาน หรือกล่าวอ้างว่าบกพร่องหรือมีส่วนใดลดหย่อน หรือมีการถูกตัดทอนออกไป หรือูกเพิ่มเติมขึ้นมา หรือถูกเปลี่ยนแปลงไป เท่ากับผู้นั้นเป็นผูปฏิเสธโดยปริยาย


5. การอรรถาธิบายอัลกุรอาน นั้นจำเป็นต้องอรรถาธิบายไปตามแนวทางของบรรดาสลัฟ ศอลิห์ เท่านั้น และห้ามอรรถาธิบาย(ตัฟซีร) อัลกุรอาน ด้วยความเห็นโดยปราศจากตัวบทสนับสนุน จากอัลนัศ (อัลกุรอานและอัลฮะดิษ และทรรศนะของบรรดาสลัฟ) มิฉะนั้นจะเป็นการกล่าวเท็จใส่อัลลอฮ์ ส่วนการโยงความหมายอัลกุรอานไปสู่ความหมายลับที่รู้กันเฉพาะกลุ่มซูฟี (บาฏินียะฮ์) หรือการกล่าวใส่ทำนองนั้นล้วนเป็นการปฏิเสธทั้งสิ้น


หลักการศรัทธา
รร.ศาสนูปถัมภ์ ประเวศ กทม.

คัมภีร์ของอัลออฮ์


การศรัทธา

ศรัทธาเชื่อมั่นว่าอัลลอฮ์ ได้ทรงประทานบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ลงมาแก่มนุษย์โลกในยุคต่างๆโดยผ่านศาสนทูตทั้งหลาย (ที่เรียกว่านะบี หรือเราะซูล) ซึ่งเป็นหลักศรัทธาประการที่สามที่นะบีมุฮัมมัดได้สั่งให้ศรัทธา พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์ต่างๆเกี่ยวกับเอกภาพ(เตาฮีด) การเคารพสักการะ(อิบาดะฮ์) รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการจัดระเบียบชีวิตมนุษย์ และสร้างความผูกพันอันพึงมีต่อพระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบที่พระองค์ทรงยินดี ซึ่งเป็นหลักประกันสำหรับความสุขสันติในโลก(ดุนยา)แห่งนี้ และความรอดพ้นในโลหน้า(อาคิเราะฮ์)

ก่อนหน้านะบีมุฮัมมัด อัลลอฮ์ ได้ทรงประทานคัมภีร์ให้กับนะบีบางคนของพระองค์ คัมภีร์เหล่านี้ได้ถูกประทานมาในลักษณะเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานอัลกุรอาน เราได้ทราบชื่อของคัมภีร์บางเล่ม เช่น คัมภีร์ของนะบีอิบรอฮีม คัมภีร์เตารอตของนะบีมูซา คัมภีร์ซะบูรของนะบีดาวูด และคัมภีร์อินญีลของนะบีอีซา ส่วนคัมภีร์ที่ถูกประทานให้แก่นะบีคนอื่นๆ นั้นเราไม่ทราบชื่อ ดังนั้นคัมภีร์ทางศาสนาเล่มอื่นไม่อยู่ในฐานะที่จะเชื่อมั่นว่าคัมภีร์เหล่านั้นเป็นต้นฉบับเดิมที่ถูกประทานมาหรือไม่ แต่เราเชื่อมั่นได้ว่าคัมภีร์ที่อัลลอฮ์ ได้ประทานมานั้นล้วนเป็นความจริง

ในบรรดาคัมภีร์ที่เราได้ถูกบอกกล่าวนั้น คัมภีร์ของนะบีอิบรอฮีมได้สาบสูญไปแล้วและไม่สามารถหาร่องรอยได้ ส่วนคัมภีร์ซะบูรของนะบีดาวูด คัมภีร์เตารอตและอินญีลที่อยู่กับชาวยิวและคริสเตียนนั้น ในอัลกรุอานได้บอกให้เราทราบว่าคัมภีร์เหล่านี้ได้ถูกปรับเปลี่ยน แก้ไขเพิ่มเติมมากมายหลายครั้ง และถ้อยคำของพระเจ้าได้ถูกบิดเบือนรวมกับสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมา การบิดเบือน ตกแต่งคัมภีร์มีมากมายจนแม้แต่ชาวยิวและชาวคริสต์เองก็ยอมรับว่าไม่มีต้นฉบับเดิมเหลืออยู่ แต่มีแค่ฉบับแปลเท่านั้น และฉบับแปลนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในการศึกษาคัมภีร์เราได้พบหลายข้อความและหลายเรื่องที่เห็นได้ชัดว่า ถ้อยคำของพระเจ้าและถ้อยคำของมนุษย์ได้ถูกปะปนกัน และไม่มีทางที่จะรู้ว่าส่วนไหนมาจากพระเจ้าและส่วนไหนเป็นการต่อเติมของมนุษย์

เราเชื่อว่าก่อนหน้าคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮ์ ได้ทรงประทานคัมภีร์ต่างๆ โดยผ่านบรรดานะบีของพระองค์ คัมภีร์เหล่านั้นมาจากพระเจ้าองค์เดียวกันกับผู้ที่ประทานอัลกุรอานมา และอัลกุรอานนั้นมิใช่เป็นเรื่องใหม่ หากแต่ประทานมาเพื่อยืนยัน กล่าวซ้ำและทำให้คำสั่งของอัลลอฮ์ ซึ่งผู้คนได้ทำลายหรือสูญหายไปมีความสมบรูณ์

อัลกุรอานเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายที่อัลลอฮ์ ได้ประทานมาและมีบางอย่างที่แตกต่างไปจากคัมภีร์ก่อน ๆ สรุปได้ดังนี้

1) ต้นฉบับเดิมของคัมภีร์ก่อนหน้าได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิง จะมีแต่ฉบับคำแปลที่ยังคงอยู่ แต่ในทางตรงข้าม คัมภีร์อัลกุรอานยังคงอยู่เหมือนกับที่ถูกประทานแก่นะบีมุฮัมมัดทุกถ้อยคำ ไม่มีหรือแม้แต่พยางค์ใดถูกต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลง และวจนะของอัลลอฮ์ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ตลอดกาล

2) ในคัมภีร์ก่อนหน้าอัลกุรอาน มนุษย์ได้ใส่คำพูดปะปนไปกับคำบัญชาของพระองค์ แต่ในคัมภีร์อัลกุรอาน เราจะพบเพียงคำสั่งของอัลลอฮ์ เท่านั้น และเป็นคำบัญชาที่คงบริสุทธิ์อยู่ แม้แต่ผู้ปฏิเสธก็ยังยอมรับในความจริงนี้

3) ในกรณีที่ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เราสามารถใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้กล่าวว่า คัมภีร์ที่ได้ถูกประทานแก่นะบีท่านอื่นนั้น ไม่ทราบว่าถูกประทานลงมาในยุคไหน แต่สำหรับคัมภีร์อัลกุรอานมี หลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่าประทานแก่นะบีมุฮัมมัด และเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ และแม้แต่นักวิจารณ์อิสลามที่มีอคติที่สุดก็ไม่สามารถสงสัยได้ หลักฐานนี้มีรายละเอียดทุกอย่างแม้แต่เวลาและสถานที่ของการประทาน ข้อความและคำสั่งของคัมภีร์อัลกุรอานก็เป็นที่รู้อย่างแน่ชัด

4) คัมภีร์ก่อนหน้าได้ถูกประทานลงมาในภาษาที่ตายแล้ว ไม่มีชาติหรือชุมชนใดที่พูดภาษาเหล่านั้นและมีเพียงไม่กี่คนที่อ้างว่าเข้าใจภาษาดังกล่าว ดังนั้น หากว่าต้นฉบับของคัมภีร์ยังคงอยู่ในปัจจุบันโดยที่ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเข้าใจและแปลความหมายได้อย่างถูกต้องและนำไปปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคัมภีร์นั้น แต่ในทางตรงข้ามภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีผู้คนนับร้อยล้านคนใช้ในการสื่อสารและเข้าใจความหมายตราบจนวันสิ้นโลก คัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกอ้างอิงและเป็นตำราเรียนในแทบทุกมหาวิทยาลัยของโลก มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และผู้ที่ไม่รู้สามารถที่จะหาคนที่มีความรู้ในภาษาเพื่ออธิบายความหมายของอัลกุรอานให้แก่เขาได้

5) คัมภีร์ศาสนาแต่ละเล่มที่พบในโลกมีจุดมุ่งหมายสำหรับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ คัมภีร์แต่ละเล่มบรรจุไว้ด้วยคำบัญชาที่มีไว้สำหรับยุคหนึ่งยุคใดในประวัติศาสตร์และตอบสนองความต้องการของคนในยุคนั้นเป็นการเฉพาะ และไม่สามารถให้คำตอบในสิ่งที่เป็นอนาคต ตลอดจนไม่สามารถที่จะนำมาปฏิบัติในยุคนี้ได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นหลักฐานว่าคัมภีร์เหล่านี้มีไว้สำหรับคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ มิได้เป็นคัมภีร์ที่มีไว้สำหรับชาวโลกทั้งมวล และให้ปฏิบัติเฉพาะยุคนั้นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม อัลกุรอานได้ถูกประทานมาเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล คำบัญชาและคำสั่งสอนในอัลกุรอานสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานที่และทุกสมัย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าอัลกุรอานได้ประทานมาสำหรับคนทั้งโลก เป็นหลักการควบคู่กับเป็นคู่มือสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์

6) ไม่มีการปฏิเสธว่า คัมภีร์ก่อนๆ บรรจุไว้ด้วยเรื่องความดีและคุณธรรม คัมภีร์ดังกล่าวได้สอนหลักการแห่งศีลธรรมและความซื่อสัตย์ ตลอดจนได้บอกถึงวิถีแห่งการดำรงชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดปราน แต่ไม่มีคัมภีร์เล่มใดที่เนื้อหาครอบคลุมสิ่งจำเป็นทุกอย่างสำหรับชีวิต คัมภีร์บางเล่มดีงามในด้านหนึ่งในขณะที่คัมภีร์อีกเล่มหนึ่งดีงามในอีกด้านหนึ่ง มีแต่คัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้นที่รวบรวมสิ่งที่ดีทั้งหมดและทำให้แนวทางของอัลลอฮ์ สมบรูณ์และวางแนวทางแห่งชีวิตที่ครอบคลุมสิ่งที่จำเป็นทั้งหลายสำหรับมนุษย์บนโลกนี้ไว้ด้วย

7) การแต่งเติมในคัมภีร์ก่อนๆ ได้ถูกสอดแทรกสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริง ใส่ความอธรรมเข้าไปมากมาย มีสิ่งที่ทารุณโหดร้ายและทำให้ความเชื่อและการกระทำของมนุษย์ต้องเสียไป ยิ่งกว่านั้นยังมีสิ่งน่ารังเกียจ ลามกหยาบคายและไร้ศีลธรรมถูกสอดแทรกเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่อัลกุรอานปราศจากสิ่งน่ารังเกียจเหล่านั้น อัลกุรอานไม่มีสิ่งใดที่ผิดพลาด ไม่มีคำสั่งใดที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีสิ่งใดที่ชี้นำอย่างผิดๆ ไม่มีการผิดศีลธรรม อัลกุรอานเต็มไปด้วยวิทยปัญญาและสัจธรรม นับตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ มีปรัชญาและกฏหมายที่ดีที่สุดสำหรับอารยธรรมของมนุษย์ คัมภีร์อัลกุรอานชี้ทางที่ถูกต้องและนำมนุษย์ไปสู่ความสำเร็จและความรอดพ้น


ด้วยคุณสมบัติพิเศษของคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ทำให้ผู้คนในโลกมีความศรัทธา และหันมาปฏิบัติตามอัลกุรอาน กล่าวได้ว่าอัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มีผู้คนบนโลกนี้อ่านและศึกษาค้นคว้ามากที่สุดในแต่ละวัน

ความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรอาน (1)



ความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรอาน (1)

เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ทรงได้สร้างมนุษย์ พระองค์ไม่ปล่อยให้มนุษย์ใช้ความคิดเองในการหา สัจจธรรมในชีวิต พระองค์ทรงคัดเลือกบางคนในกลุ่มมนุษย์และแต่งตั้งให้เป็นเราะซูลในกลุ่มมนุษย์นั้น และทรงประทานคัมภีร์ให้บรรดาเราะซูลเพื่อเผยแผ่คำสอนของพระองค์อัลลอฮ ให้แก่กลุ่มพรรคพวกของตนเอง และเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับพระองค์ และท่านเราะซูล ที่มนุษย์ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดๆทั้งสิ้น

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงต้องการให้คัมภีร์อัล-กุรอานที่ประทานให้แก่ท่านเนะบีมุฮัมมัด เป็นคัมภีร์เล่มสุดท้าย ที่รวบรวมบรรดาคำสอนปรากฏในคัมภีร์ก่อน ๆ เพราะคัมภีร์ก่อน ๆพระองค์ทรงประทานลงมาสำหรับกลุ่มชนชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่อัล-กุรอานได้ประทานลงมาสำหรับมนุษยชาติทั้งหลาย ทั้งชาวอาหรับและที่ไม่ใช่อาหรับ ท่านเราะซูล ก็ยอมรับว่า อัลลอฮ์ ทรงแต่งตั้งท่านเป็นเราะซูลสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับชาวอาหรับอย่างเดียว เช่นพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ในตอนหนึ่งว่า

وما أرسلْناكَ إلا كآفَّة بشيراً ونديراً ولكن أكثر الناس لا يعلمون (سبأ/28)

"และเรามิไส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดี(ถึงการตอบแทนในผลงานที่ดี) และเป็นผู้ตักเตือน(เรื่องการลงโทษ) แก่มนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้"

ท่านเราะซูล เองได้ยอมรับเกียรติที่พระองค์อัลลอฮ์ ได้มอบให้และเคยกล่าวในบทหนึ่งว่า

.... وكانَ النبِيُّ بعِث إلى قومِه خاصَّةً وبعِثْتُ إلى الناس عامَّةً (رواه البخاري رقم الحديث 335)

"แล้วนะบีท่านก่อนๆนั้นพระองค์อัลลอฮฺทรงแต่งตั้งสำหรับกลุ่มชนของพวกเขาเท่านั้น แต่ว่าข้า(อัลลอฮ์) ทรงแต่งตั้งเจ้าสำหรับมนุษย์ทั้งมวล"

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คัมภีร์อัล-กุรอานมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ ครอบคลุมทุกกิจการในชีวิต ประจำวันของมนุษย์และสามารถตอบสนองความต้องการของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและจนถึงวันสิ้นโลกนี้

พระองค์อัลลอฮ์จะทรงรักษา ปกป้องคัมภีร์เล่มนี้จากการทำลายและบิดเบือนของมนุษย์ในทุกรูปแบบ พระองค์ได้ตรัสไว้ในตอนหนึ่งว่า

إنَّا نحْنُ نزَّلْنا الدكْر وإنَّا له لَحافِظون (الحجْر/9)

“แท้จริง เราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาและแท้จริงเราเป็นผู้รักษาอย่างแน่นอน”

ในเมื่ออัล-กุรอานเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้าย แน่นอนคัมภีร์นี้ย่อมสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ หรือป้องกันมิให้ปัญหาเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ได้ ในทุก ๆด้าน ด้านสติปํญญา ร่างกาย ด้านสังคม เศรษฐกิจและด้านการเมือง เมื่อมนุษย์นำเนื้อหาที่ระบุในคัมภีร์เล่มนี้มาปฏิบัติอย่างถูกต้อง

ชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้ที่มีความหวาดกลัว ไม่มีความสงบสุข สังคมของมนุษย์ที่ไม่มั่นคง เรียบร้อย มารยาทของวัยรุ่นปัจจุบันที่ผู้ใหญ่ยอมรับไม่ได้ สิ่งที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือ การนำคำสอนของ อัล-กุรอาน มาปฏิบัติเป็นหลักการในสังคม พระองค์อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในตอนหนึ่งว่า

فَمَنِ اتَّبَعَ هُدايَ فلا يضِلُّ ولا يشْقَى ومَن أعرَضَ عن دكْري فإنَّ له معيشَةً ضنْكاً ونحْشُرُه يومَ القِيامةِ أعْمى (ط/124)

“ดังนั้นผู้ใดที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของข้า เขาจะไม่ได้รับความลำบาก แต่ผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริง สำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแคบ และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ ในสภาพของคนตาบอด”

อัล-กุรอาน คือ คำที่เรียกสำหรับคัมภีร์ หรือคำสอนที่ประทานลงมายังท่านนบีมุฮัมมัด อ่านแล้วจะได้รับผลบุญ หมายความว่า อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ที่ยอมรับการประทานคัมภีร์ก่อน ๆ เช่นคัมภีร์อัล-ซะบูรที่ประทานลงมายังนะบีดาวูด อลัยฮิสลาม คัมภีร์เตาเราะฮ์ที่ประทานลงมายังนะบีมูซา อลัยฮิสลาม และคัมภีร์อินญีลที่ประทานลงมายังนะบีอีซา อลัยฮิสลาม พร้อมยกเลิกเนื้อหาในคัมภีร์เหล่านั้น

อัล-กุรอานประทานลงมาจากฟากฟ้าผ่านมะลาอิกะฮ์ ญิบรีล มีรายงานว่าอัล-กุรอานประทานลงมา 2ครั้ง ครั้งแรกประทานลงมาจากเลาห์ มะห์ฟูซ اللَّوح المحْفوظ ณ ที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงส่ง อัล-กุรอาน มายังโลกดุนยาในคืน ลัยละตุล ก๊อดฺร ليلة القدر แล้วประทานทีละบทมายังนะบีมุฮัมมัด ตามเหตุการณ์ต่าง ๆในช่วงระยะ 22 ปี กว่า เริ่มจากอายะฮ์แรกที่ประทานลงมาในขณะที่ท่านเราะซูล อยู่ในถ้ำหิเราะฮ์แล้วตามด้วยอายะฮ์ อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมระยะเวลาประมาณ 13 ปีในช่วงที่ท่านเราะซูล อาศัยอยู่ที่มักกะฮ์ และระยะเวลาประมาณ 10 ปีหลังจากท่านได้อพยพไปอยู่ที่นครมะดีนะฮ์

ประชาชาติมุสลิมเป็นประชาชาติที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำทาง ในท่ามกลางศาสนา ลัทธิและอุดมการณ์ต่าง ๆในโลกนี้ เป็นประชาชาติที่ชักชวนให้บรรดามนุษย์ทั้งหลายยอมรับอัล-กุรอานและศรัทธาในพระองค์อัลลอฮ์ เมื่อมุสลิมได้ประสบความสำเร็จด้วยคัมภีร์อัล-กุรอานในสมัยก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะมีประเทศใหม่ด้วยคัมภีร์อัล-กุรอานนี้นำทางไปสู่อนาคต