Saturday, June 20, 2009

หลักปฏิบัติ


หลักปฏิบัติ
จาก MuslimCampus

การยืนยันความศรัทธาด้วยการปฏิบัติ ความศรัทธาทั้ง 6ประการที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เป็นหลักการสำคัญพื้นฐานของอิสลามที่มุสลิมจะต้องมีอยู่ประจำใจแต่ความศรัทธาเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เป็นการเพียงพอเพราะในอิสลามความศรัทธาที่แท้จริงจะต้องแสดงผลของมันออกมาให้เห็นเป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันและเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มีความศรัทธาในหลักการ6ประการดังกล่าวยังคงยืนยันในความศรัทธานั้นอย่างมั่นคงอัลลอฮ์. ก็ได้ทรงวางภารกิจสำคัญให้เขาต้องปฏิบัติ5ประการหรือที่เรียกกันว่าหลักการอิสลาม5 ประการนั่นคือ

เนื้อหา
1 1. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.”
2 2. การนมาซหรือละหมาด
3 3. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
4 4. การจ่ายซะกาต
5 5. การทำฮัจญ์


1. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.”

คำปฏิญาณ นี้เป็นถ้อยคำที่ผู้ยอมรับอิสลามทุกคนจะต้องกล่าวออกมา เป็นการยืนยันด้วยวาจาว่าตัวเองมีความศรัทธาดังที่กล่าวมาข้างต้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์.ได้ทรงกำหนดไว้ในคัมภีร์กุรอานและคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด


ถึงแม้คำปฏิญาณดังกล่าวจะเป็นคำพูดเพียงประโยคสั้น ๆ แต่ถ้อยคำนี้แหละที่ทำให้สังคมอาหรับป่าเถื่อน ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด ต้องเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้อิสลามได้กลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก คำปฏิญาณดังกล่าวนี้หมายความว่ามุสลิมจะไม่ยอมเคารพกราบไหว้หรือสักการะบูชาพระเจ้าอื่นใด ไม่ว่าพระเจ้านั้นจะเป็นวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือคนที่อุปโลกน์ตัวเองหรือถูกอุปโลกน์เป็นพระเจ้า หรือแม้แต่สิ่งใดหรือใครก็ตามที่อ้างว่าตัวเองมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนอัลลอฮ์. แล้วเรียกร้องต้องการให้คนอื่นสักการะบูชาตนเอง ดังนั้นอิสลามจึงห้ามมุสลิมแสดงกิริยากราบแบบมือและหัวจรดพื้นแก่วัตถุหรือบุคคลใด ๆ แม้แต่พ่อแม่ของตัวเอง เพราะกิริยาการกราบอันถือว่าเป็นกิริยาที่แสดงถึงความสูงสุดในการเคารพสักการะนั้นจะถูกสงวนไว้ใช้กับ “อัลลอฮ์.” ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่นั่นมิได้หมายความว่าอิสลามห้ามมิให้เคารพเชื่อฟังและทำความดีต่อพ่อแม่


การที่อิสลามห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุและบุคคลเช่นนั้น ก็เพราะอิสลามถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดและมนุษย์ทุกคนมีฐานะแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสายตาของอัลลอฮ์ เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดแล้ว หากมนุษย์ยังไปสักการะบูชาหรือกราบไหว้วัตถุธรรมชาติหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือสักการะบูชามนุษย์ด้วยกันเอง นั่นก็หมายความว่ามนุษย์กำลังลดฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ในสายตาของพระองค์ลง


เมื่ออิสลามห้ามสักการะหรือกราบไหว้พระเจ้าอื่นใดแล้ว อิสลามก็สั่งให้มุสลิมเคารพภักดีอัลลอฮ์.แต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้เพราะพระองค์เท่านั้นที่ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาลรวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย และพระองค์ไม่มีผู้ใดมาเป็นภาคีร่วมกับพระองค์


คำปฏิญาณตอนที่สองที่กล่าวว่า “มุฮัมมัด เป็นรอซูลของอัลลอฮ์.” นั้นหมายความว่าเมื่อใครยอมรับอัลลอฮ์.ว่าเป็นพระเจ้าของเขาแล้วเขาจะต้องยอมรับว่ามุฮัมมัด เป็นรอซูลหรือผู้นำสารของอัลลอฮ์. (กุรอาน-) มาประกาศยังมนุษยชาติและจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสดามุฮัมมัด ด้วย


เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด ประกาศคำปฏิญาณนี้ออกมา ความหมายของคำปฏิญาณนี้ได้ทำให้บรรดาพวกผู้นำชาวมักก๊ะฮ.เริ่มหวั่นวิตกทันที เพราะคนเหล่านี้รู้ดีว่าท่านศาสดามุฮัมมัด กำลังประกาศให้คนรู้ว่าอัลลอฮ์.ต่างหากที่เป็นใหญ่และเป็นผู้ทรงอำนาจ มิใช่พวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ. และถ้าใครยอมรับคำปฏิญาณนี้ก็หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องยอมรับความเป็นผู้นำของศาสดามุฮัมมัด นอกจากนั้นแล้วมันยังหมายความว่าความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วิถีการดำรงชีวิตแบบเก่าที่พวกเขาเคยปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจะต้องถูกทำลายลงด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ.ถึงได้ต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด ตั้งแต่ท่านเริ่มประกาศอิสลาม


2. การนมาซหรือละหมาด

การนมาซคือการแสดงความเคารพสักการะและการแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮ์.ซึ่งจะกระทำวันละ 5 เวลา คือ ตอนรุ่งอรุณ ตอนบ่าย ตอนตะวันคล้อย ตอนดวงอาทิตย์ตกดิน และในยามค่ำคืน โดยในการนมาซทุกครั้งมุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางก๊ะอ.บ๊ะฮ.ซึ่งอยู่ในนครมักก๊ะฮ. และหน้าที่ในการนมาซนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนตั้งแต่เริ่มมีความรู้สึกทางเพศ (สำหรับผู้ชาย) และเริ่มมีประจำเดือน (สำหรับผู้หญิง) ซึ่งเป็นวัยที่อิสลามถือว่าเริ่มเข้าสู่วัยแห่งความเป็นผู้ใหญ่แล้ว


การนมาซเป็นสิ่งยืนยันความศรัทธาที่ปรากฎให้เห็นทางภายนอกได้ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบ และคนที่จะดำรงรักษาการนมาซของตัวเองได้ครบ 5 เวลาต่อวันนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความผูกพันต่ออัลลอฮ์.และรำลึกถึงพระคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลา


อันที่จริงแล้ว การปฏิบัติศาสนกิจที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติมิได้เป็นพิธีกรรมอันลึกลับที่ยากต่อการปฏิบัติ หากแต่เป็นภารกิจที่ปฏิบัติอย่างเปิดเผย สะดวกและง่ายต่อผู้ปฏิบัติ การนมาซนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงความเคารพภักดีและเป็นการแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮ์.แล้ว คัมภีร์กุรอานยังได้กล่าวอย่างไว้ชัดเจนอีกว่า

“แท้จริงการนมาซจะยับยั้งจากความชั่วช้าและความลามก”

ทั้งนี้เนื่องจากคนที่นมาซนั้นจะเป็นคนที่รำลึกถึงอัลลอฮ์.และจะเชื่อว่าอัลลอฮ์.จะทรงเห็นการกระทำของเขาทั้งในที่ลับและในที่เปิดเผย ดังนั้น ความเกรงกลัวอันนี้จะช่วยยับยั้งเขามิให้ปฏิบัติความชั่ว

3. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

การถือศีลอดในอิสลาม คือ การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพสิ่งต่าง ๆ การมีความสัมพันธ์ทางเพศฉันสามีภรรยา ตลอดจนการอดกลั้นอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลายและการนินทาว่าร้ายผู้อื่นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก


การถือศีลอดเป็นหลักปฏิบัติอีกประการหนึ่ง ซึ่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคนที่ศรัทธาในอัลลอฮ์.และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งชายหญิงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเป็นเวลา 29 – 30 วัน ในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม


การถือศีลอดมิได้เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยของศาสดามุฮัมมัด แต่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยของท่านเสียอีก แม้แต่ศาสดามูซา (โมเสส) และศาสดาอีซา (เยซู) ก็เคยถือศีลอดด้วยเช่นกัน คัมภีร์กุรอานได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องนี้พร้อมกับบอกวัตถุประสงค์ของการถือศีลอดให้เราทราบว่า :-

“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าเช่นเดียวกับที่เคยถูกกำหนดแก่บรรดาก่อนหน้าสูเจ้า ทั้งนี้เพื่อที่สูเจ้าจะได้ยำเกรงพระเจ้า”

ที่การถือศีลอดมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกมุสลิมให้เกิดความยำเกรงพระเจ้าก็เพราะในเวลาปกติ อัลลอฮ์.ทรงอนุมัติให้มุสลิมกินและดื่มได้อย่างเสรี แต่เมื่อถึงเดือนรอมฎอน เมื่ออัลลอฮ์.ทรงมีบัญชาให้ละเว้นจากการกินดื่ม มุสลิมก็ละเว้นทันที นี่เป็นบทเรียนที่สอนมุสลิมให้ยำเกรงเละเชื่อฟังอัลลอฮ์.


การถือศีลอดยังเป็นการฝึกให้ผู้ถือศีลอดซื่อสัตย์ต่อตัวเองและพระเจ้า กล่าวคือ ขณะที่ถือศีลอดเขาอาจจะแอบกินอาหารและดื่มน้ำในระหว่างการถือศีลอดก็ได้โดยที่ไม่มีใครรู้ แต่ด้วยความเชื่อในพระเจ้าว่าพระองค์ทรงเห็นและทรงรู้การกระทำของเขาทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังนั้น เขาก็จะไม่ทำในสิ่งที่ขัดต่อความสำนึกของตัวเอง นอกจากนั้นแล้ว การถือศีลอดยังเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาคกันในบรรดาผู้ศรัทธาด้วย เพราะในเดือนถือศีลอด มุสลิมผู้ศรัทธาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดต่างต้องงดจากการกินดื่มเหมือนกันหมด


ความจริงแล้ว ในระหว่างการถือศีลอดนั้น การอดอาหารและน้ำเป็นเพียงมาตรการที่จะช่วยย้ำเตือนจิตสำนึกของผู้ถือศีลอดให้ระลึกถึงพระเจ้า และลดความต้องการทางอารมณ์ให้ต่ำลง ดังนั้น ถ้าผู้ใดถือศีลอดแล้วยังคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำทำความชั่วอยู่ สิ่งที่เขาผู้นั้นจะได้รับจากการถือศีลอดก็คือความหิวกระหายธรรมดาตลอดทั้งวัน ซึ่งไม่มีผลต่อการฝึกฝนหรือการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณของเขาแต่ประการใด


สำหรับคนชราที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าการถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย กรรมกรที่ทำงานหนักในเหมืองแร่ หญิงมีครรภ์แก่ก็ได้รับการยกเว้นเช่นกัน และมิต้องชดใช้ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับการยกเว้นจะต้องบริจาคอาหารที่ตัวเองกินเป็นประจำหนึ่งมื้อให้แก่ผู้ยากจนเป็นการทดแทนในแต่ละวันที่มิได้ถือศีลอด ในระหว่างการถือศีลอด มุสลิมสามารถกลืนน้ำลายได้ถ้าหากว่าน้ำลายนั้นสะอาดและไม่มีเศษอาหารติดอยู่

4. การจ่ายซะกาต

การจ่ายซะกาต คือ การจ่ายทรัพย์สินในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้จำนวนหนึ่งจากทรัพย์สินที่สะสมไว้เมื่อครบกำหนดเวลา โดยจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ให้แก่คนที่มีสิทธิ์ได้รับ 8 จำพวกตามที่คัมภีร์กุรอานได้กำหนดไว้อันได้แก่

คนยากจน
คนที่อัตคัดขัดสน
คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม
ผู้บริหารการจัดเก็บและจ่ายซะกาต
ไถ่ทาส
ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
คนพลัดถิ่นหลงทาง
ใช้ในหนทางของอัลลอฮ์.

ความจริงแล้วคำว่า ”ซะกาต” โดยทางภาษาแปลว่า “การซักฟอกการทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต” และคำว่า “ซะกาต” นี้ได้ถูกกล่าวควบคู่กับการนมาซในคัมภีร์กุลอานไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งด้วยเหตุนี้ มุสลิมที่ปฏิบัตินมาซแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาตนั้น ความเป็นมุสลิมของเขาจึงยังไม่สมบูรณ์


วัตถุประสงค์ที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมจ่ายซะกาตก็คือเพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธา นอกจากนั้นแล้วการจ่ายซะกาตก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความเจริญให้แก่สังคมอีกด้วย


ที่กล่าวว่าซะกาตมีวัตถุประสงค์เพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายซะกาต ก็เพราะอิสลามถือว่าทรัพย์สินที่มุสลิมหามาได้นั้นถึงแม้ว่าจะหามาด้วยความสุจริตก็ตาม ถ้าหากทรัพย์สินที่สะสมไว้นั้นยังไม่ได้นำมาจ่ายซะกาต ทรัพย์สินนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะซะกาตเป็นสิทธิ์ของคน 8 ประเภทดังกล่าว การไม่จ่ายซะกาตก็คือการยักยอกทรัพย์สินของคนเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การจ่ายซะกาตก็จะช่วยชำระจิตใจของผู้จ่ายให้หมดจดจากความตระหนี่ถี่เหนียวและความโลภซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสกปรกทางใจอย่าง หนึ่ง


หากเรามองหลักการจ่ายซะกาตจากแง่สังคม เราจะเห็นว่าบรรดาผู้มีสิทธิได้รับซะกาตนั้นมักจะเป็นผู้ที่เป็นปัญหาในสังคม ดังนั้นการนำซะกาตไปให้แก่คนเหล่านี้จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ถูกจุด ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองจากทางด้านเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าซะกาตจะทำให้คนยากจนคนอานาถาในสังคมมีอำนาจซึ้อเพิ่มขึ้น เพราะมีการถ่ายเททรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจน และเมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจซื้อก็จะส่งผลให้มีการผลิตสนองตอบความต้องการ ทำให้มีการจ้างงานและมีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจติดตามมา


ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่าการจ่ายซะกาตนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์. โดยผ่านทางการช่วยเหลือสังคมด้วย

ซะกาตมี 2 ประเภท คือ

ซะกาตฟิตเราะฮ. คือ ซะกาตที่มุสลิมที่สามารถจะเลี้ยงตัวได้ต้องจ่ายให้แก่คนยากจนหรือคนอนาถาในเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนถือศีลอด โดยจ่ายเป็นอาหารหลักที่คนในท้องถิ่นกินกันเป็นประจำซึ่งได้แก่ข้าวสารประมาณ 3 ลิตร (หรืออาจให้เป็นเงินที่มีมูลค่าเท่ากับข้าวสารจำนวนดังกล่าว) สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นจะต้องรับผิดชอบการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ.นี้ แทนสมาชิกในครอบครัวด้วย หากยังไม่ได้จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ. อัลลอฮ์.ก็จะยังไม่รับการถือศีลอดของเขา
ซะกาตมาล หรือ ซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตที่จ่ายจากทรัพย์สินที่สะสมไว้หลังจากการใช้จ่ายครบรอบปีแล้ว ในอัตราที่ต่างกันตามประเภทของทรัพย์สินตั้งแต่ร้อยละ 2.5 ไปจนถึง 20

5. การทำฮัจญ์

การประกอบพิธีฮัจญ์การทำฮัจญ์ คือ การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะฮ.ในเดือนซุลฮิจญะฮ.ตามวันเวลาและสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้ หลักการข้อนี้ถือเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายหญิงทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และเส้นทางการเดินทางมีความปลอดภัยหากใครได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว จะพบว่าการทำหัจญ์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเก่าแก่ที่มีมาก่อนสมัยของศาสดามุฮัมมัด จากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน การทำฮัจญ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่อัลลอฮ์ ได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมและอิสมาอิลผู้เป็นลูกชายร่วมกันสร้าง “บัยตุลลอฮ.” (บ้านของอัลลอฮ์. ) ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพภักดีต่อพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติให้มาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่บ้านดังกล่าว


ดังนั้น ในเดือนซุลฮิจญะฮ. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปฏิทินอิสลาม มุสลิมทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์จากทั่วโลกนับล้านคนจะเดินทางไปร่วมกันแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์.ที่บ้านของพระองค์


หลังจากสมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีมแล้ว ด้วยความโง่เขลาและความหลงผิดของผู้คน รูปแบบของการทำหัจญ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น แทนที่ผู้คนจะเคารพบูชาอัลลอฮ์.แต่เพียงพระองค์เดียว พวกเขากลับเอารูปปั้นเทวรูปต่าง ๆ ที่พวกเขาบูชามาตั้งไว้รอบ ๆ ก๊ะอ.บ๊ะฮ. เพื่อสักการะบูชาในระหว่างการทำหัจญ์ และในพิธีการเดินรอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.นั้น พวกเขาหลายคนได้เปลือยกายเดินรอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.และอื่น ๆ อีกมากมายที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมไม่ได้ทำแบบอย่างไว้ จนกระทั่งมาถึงสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด หลังจากที่ท่านเข้ายึดมักก๊ะฮ.ได้แล้ว ท่านได้สั่งให้ทำลายรูปปั้นบูชาต่าง ๆ รอบก๊ะอ.บ๊ะฮ.ลงจนหมดสิ้น และท่านได้แสดงแบบอย่างการทำหัจญ์ที่ถูกต้องให้บรรดาผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮ์.ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การทำหัจญ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นหัจญ์ที่มีแบบอย่างมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด


หากใครได้ศึกษาถึงรายละเอียดของหลักการและการปฏิบัติฮัจญ์ เขาจะทราบได้ทันทีว่าหัจญ์เป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่ถูกกำหนดให้มุสลิมถือปฏิบัติเพื่อยืนยันถึงความศรัทธาในอัลลอฮ์. ที่ต้องอาศัยความเสียสละทั้งทรัพย์สินและเวลา ความอดทนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การให้อภัยและความสำนึกทางประวัติศาสตร์ตลอดจนความศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าไปพร้อม ๆ กัน


การทำฮัจญ์ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพภักดีและยืนยันในความศรัทธาต่ออัลลอฮ์. แล้ว ยังสอนมนุษย์ทุกคนให้รู้สำนึกว่าในสายตาของอัลลอฮ์. แล้ว มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะในการทำหัจญ์ ผู้ทำหัจญ์ทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้น เผ่าพันธุ์ ภาษา หรือจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าสีขาวเพียงสองชิ้นเหมือนกันหมดทุกคน จะต้องปฏิบัติพิธีการต่าง ๆ เหมือนกันหมดและทุกคนต่างก็ประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์.เหมือนกันหมด


สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น อาจกล่าวสรุปได้ว่าหลักศรัทธา 6 ประการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ส่วนหลักปฏิบัติ 5 ประการที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัตินั้นมิใช่เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดในอิสลาม หากแต่มันเป็นเพียงวินัยบัญญัติอย่างน้อยที่สุดที่อิสลามกำหนดไว้ให้มุสลิมปฏิบัติเพื่อยืนยันถึงความศรัทธาของเขาเท่านั้น อันที่จริงแล้วอิสลามยังมีบทบัญญัติอื่น ๆ ที่กำหนดให้มุสลิมปฏิบัติอีกมากมายที่จะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในทุกย่างก้าวของชีวิต(หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า “เศาะลาฮ.”)

รับข้อมูลจาก "http://www.muslimcampus.com/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4"
หมวดหมู่: คู่มือมุสลิมเบื้องต้น