Thursday, October 1, 2009

ศาสดามุฮัมมัด : ชีวประวัติศาสดามุฮัมมัด

ชีวประวัติศาสดามุฮัมมัด
ภูมิหลังและกำเนิดของท่านศาสดา
วงศ์กุร็อยช์ (Quraysh) เป็นสาขาที่มีชื่อเสียงของชาวอาหรับอิสมาอิลียะห์ (Ismaillite) ฟิฮร์ (Fihr) เป็นคนที่มีอำนาจมากและสืบเชื้อสายมาจากอิสมาอีล ชื่ออีกชื่อหนึ่งของฟิฮร์ คือ กุร็อยช์ เพราะฉะนั้นวงศ์วานว่านเครือของเขาซึ่งเป็นต้นวงศ์ในปี คศ. 5
เชื้อสายคนหนึ่งของฟิฮร์ ชื่อว่า กุศ็อยย์ (Qusayy) ได้รวมชนเผ่ากุร็อยช์ทั้งหมดเข้าด้วยกันและเข้าครอบครองแคว้นหิยาซ รวมทั้งได้เข้าทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสถานกะอ์บะฮ์ด้วย
เมื่อกุศ็อยย์สิ้นชีวิตลง บุตรชายของเขาชื่อ อับดุดดาร (Abd-ud-Dar) ได้เป็นหัวหน้าเผ่ากุร็อยช์สืบต่อมาและเป็นผู้ปกครองแคว้นหิยาซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมักกะฮ์ เมื่อเขาสิ้นชีวิตลงก็เกิดการแก่งแย่งกันในเรื่องการปกครองและสุดท้ายจึงตกลงให้อับดุชชัมส์ (Abd-Shams) ซึ่งเป็นบุตรชายของอับดุมะนาฟเป็นผู้ดูแลในด้านการคลัง พวกหลานปู่ของอับดุดดารเป็นผู้ดูแลด้านการทหาร แต่ต่อมาอับดุชชัมส์ได้มอบหน้าที่บริหารให้แก่ฮาชิม (Hashim) น้องชายของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะรับหน้าที่นี้ ฮาชิมเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอยู่ในอารเบียเพราะความกล้าหาญ และโอบอ้อมอารีของเขา
ฮาชิมผู้เป็นปู่ทวดของท่านศาสดามุฮัมมัดนั้นได้สมรสกับสตรีนางหนึ่งจากเมืองมะดีนะฮ์ และมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า ชะบีฮ (Shabih) เมื่อฮาชิมสิ้นชีพลง น้องชายของเขาคือ มุฏเฏาะลิบ (Muttalib) ได้พาชะบีฮไปที่มะดีนะฮ์ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และยุติธรรมของอับดุลมุฏเฏาะลิบ ทำให้เขามีตำแหน่งและชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาของชนเผ่ากุร็อยช์ แต่ฮัรบ์ (Harb) ซึ่งเป็นบุตรชายของอุมัยยะห์ไม่ยอมรับนับถือเขาและทำการแข็งข้อไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจปกครองของ อับดุลมุฏเฏาะลิบ ผู้พิพากษาได้ตัดสินให้ฮัรบ์เป็นฝ่ายแพ้เช่นเดียวกับบิดาของเขา
อับดุลมุฏเฏาะลิบ ขณะนั้นอายุล่วงเข้าวัยชราเกือบเจ็ดสิบปีแล้ว เขามีบุตรชายและหญิงหลายคน ในขณะที่ปกครองแคว้นหิยาซอยู่นั้นอับเราะฮฮะ (Abrahah) หัวหน้าชาวยะมันซึ่งเป็นคริสเตียนได้ยกทัพมารุกรานมักกะฮ์ และสถานกะอ์บะฮ์ตอนที่กรีฑาทัพมายังมักกะฮ์ ครั้งนั้นอับเราะฮ์ฮะได้ใช้ช้างเป็นพาหนะชาวอาหรับไม่เคยเห็นช้างมาก่อนจึงพากันตื่นเต้นและเรียกปีแห่งการรุกรานคราวนั้น (คศ.570) ว่าปีช้าง
กองทัพของอับเราะฮฮะส่วนหนึ่งถูกทำลายโดยโรคระบาดและอีกส่วนหนึ่งโดยพายุฝนและพายุลูกเห็บ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นี้อัลดุลมุฏเฏาะลิบได้พาบุตรชายคนสุดท้องของเขาคือ อัลดุลลอฮ์ (Abdul-lah) ไปยังบ้านของวะฮฮาบ (Wahhab) หัวหน้าของลูกหลานของซอเราะฮ และได้ทำการสมรสอับดุลลอฮ์กับอามีนะฮ์ บุตรสาวของวะฮฮาบ อับดุลลอฮ์อยู่กับอามีนะฮที่บ้านบิดาของนางได้เพียงสามวันก็จากไปโดยเดินทางไปทำการค้าที่ซีเรีย ตอนขากลับเขาล้มป่วยลงที่เมืองมะดีนะฮ์ และสิ้นชีวิตที่นั่น ทิ้งอูฐห้าตัว แพะฝูงหนึ่งกับอุมมุอัยมันเด็กหญิงทาสคนหนึ่งไว้ให้เป็นมรดกแก่บุตรชายของเขาซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในครรภ์
กำเนิดของท่านศาสดามุฮัมมัดและชีวิตปฐมวัย
อามีนะฮ์ ผู้ตกเป็นม่ายได้ให้กำเนิดบุตรชายในวันจันทร์ที่ 12 เดือนเราะบีอุลเอาวัล คศ. 570 ปู่ของเขาได้ตั้งชื่อให้ว่ามุฮัมมัด และแม่ให้ชื่อว่าอะห์มัด (Muhummad-Ahmad) ทั้งสองชื่อนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน
ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูทารกก็คือนางฮะลีมะฮ หญิงในวงศ์วานลูกหลานของสะอ์ด (Sa'd) ตามธรรมเนียมนิยมของชาวอาหรับในขณะนั้น มุฮัมมัดไปอยู่กับพี่เลี้ยงท่ามกลางพรรคพวกของนางเป็นเวลาห้าปี ในระหว่างนี้ท่านได้เรียนรู้ภาษาอาหรับชนิดที่บริสุทธิ์ที่สุดจากผู้คนเหล่านั้น
เมื่อมีอายุได้หกขวบ มุฮัมมัดก็ถูกส่งตัวกลับมาให้มารดาเลี้ยงดูต่อไป มารดาต้องการจะพาบุตรชายไปให้รู้จักกับญาติทางมารดา จึงได้ออกเดินทางไปมะดีนะฮ์ โดยมีทาสหญิงของนางติดตามไปด้วย ขากลับมามักกะฮ์ขณะเดินทางมาถึงสถานที่หนึ่งซึ่งมีนามว่า อัลอับวา (Al-Abwa) นางอามีนะฮ์ก็ได้ล้มเจ็บลงและสิ้นชีวิต หลังจากนั้นอุมมุอัยมัน ทาสหญิงผู้ภักดีก็พาเด็กน้อยกำพร้าบิดามารดากลับมายังมักกะฮ์
อับดุลมุฏเฏาะลิบผู้เป็นปู่ได้เป็นผู้เลี้ยงดู ต่อมาแค่เพียงสองปีเท่านั้นผู้เป็นปู่ก็ถึงแก่กรรมลงอีก ฉะนั้นมุฮัมมัดจึงเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อแม่และปู่ตั้งแต่อายุยังน้อย หลังจากนั้นหน้าที่เลี้ยงดูมุฮัมมัดก็ตกเป็นของอบูฏอลิบ (Abu Talib) ผู้เป็นลุง ซึ่งรักเอ็นดูหลานชายอย่างยิ่ง จนกระทั่งมุฮัมมัดเติบใหญ่ เนื่องจากลุงของท่านไม่ใช่คนร่ำรวย มุฮัมมัดจึงต้องทำงานโดยพาฝูงแกะและอูฐไปเลี้ยงตามเนินเขา และหุบเขาใกล้ ๆ มุฮัมมัดมีนิสัยเมตตากรุณาต่อคนยากจน และผู้มีทุกข์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นคนที่ชอบอยู่อย่างสงบ รักการคิดใคร่ครวญ ผู้คนในเผ่าเดียวกันต่างก็รักใคร่และให้เกียรติ เพราะเขามีนิสัยอ่อนโยนมีอัธยาศัยไมตรี การที่เขาถือความสัตย์อย่างเข้มงวด และมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่งซื่อตรง ต่อหน้าที่อย่างไม่สะทกสะท้านนั้น ทำให้มุฮัมมัดได้รับการขนานนามว่า อัลอามีน (Al-Amin) ซึ่งแปลว่าผู้ควรแก่การเชื่อถือ
เมื่ออายุได้สิบสองปีมุฮัมมัดได้เดินทางไปค้าขายที่ซีเรียกับลุงและที่ซีเรียนี่เอง ท่านได้พบกับนักบุญคริสเตียนคนหนึ่งมีชื่อว่า บุฮัยรอ (Buhaira) ซึ่งได้ทำนายมุฮัมมัดว่าจะเป็นศาสดาท่านสุดท้ายและกล่าวถึงด้วยความยกย่อง ในระหว่างที่มีงานออกร้านอุกาซได้เกิดการสู้รบกันขึ้น ทุกเผ่าในอารเบียได้ร่วมในสงครามนี้ มุฮัมมัดได้ช่วยเหลือลุงของเขาด้วยโดยการคอยเก็บลูกธนูที่ฝ่ายข้าศึกยิงมาไปให้ อบูฏอลิบผู้เป็นลุง เขาได้แลเห็นว่าสงครามนี้ได้ทำลายชีวิตคนนับจำนวนพัน มุฮัมมัดจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการสงบศึกขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า ฮาลฟุลฟูซุล (HalfulFuzul) โดยได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากคนหนุ่มที่แข็งแรงกลุ่มหนึ่ง จุดประสงค์ของคณะกรรมการนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบ และเพื่อสร้างมิตรไมตรีกันระหว่างเผ่าต่าง ๆ ในเมืองมักกะฮ์
มุฮัมมัดกับท่านหญิงคอดีญะฮ์
ในระหว่างนี้ชื่อเสียงของมุฮัมมัดได้ขจรขจายไปทั่วดินแดนอารเบีย เคาะดีญะฮ์ (Khadijah) แม่ม่ายผู้มีอันจะกินนางหนึ่งได้ยินกิติศัพท์ของมุฮัมมัดเข้าก็อยากให้ท่านมาเป็นผู้ดูแลธุรกิจของนาง ลุงของท่านได้อนุญาตให้ท่านเดินทางไปดูแลการค้าให้นางที่ซีเรีย
เมื่อเดินทางกลับมาและได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้านาง มุฮัมมัดก็ทำผลกำไรให้นางได้อย่างมากมาย ด้วยความฉลาดปราดเปรื่องและซื่อสัตย์ของท่านนั่นเอง นางรู้สึกประทับใจในบุคลิกลักษณะอันมีเสน่ห์ของท่านเป็นอย่างมาก จนถึงกับขอแต่งงานกับท่าน ขณะนั้นนางเคาะดีญะฮ์มีอายุได้ 40 ปี เคยแต่งงานมาแล้วสองครั้งมีบุตรชายสองคนและบุตรหญิงคนหนึ่ง การแต่งงานได้ถูกจัดทำขึ้นด้วยความเห็นชอบของลุงของมุฮัมมัด ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 25 ปี ชีวิตสมรสของทั้งสองดำเนินไปด้วยความสุข นางเคาะดีญะฮ์นิยมชมชอบความปรีชาสามารถและบุคลิกภาพอันงามสง่าของมุฮัมมัดเป็นอย่างมาก นางปล่อยให้ท่านมีเวลาเป็นของตัวเองได้อย่างมีอิสระโดยไม่ต้องกังวลใด ๆ เลย ยามที่ท่านมีความเศร้าโศก และความทุกข์นางก็คอยปลอบโยนท่าน
ท่านศาสดาได้กล่าวในตอนหลังว่าเมื่อท่านได้รับมอบหมายภารกิจจากพระผู้เป็นเจ้านั้น ตอนแรกไม่มีใครเชื่อท่านเลยนางเคาะดีญะฮ์คนเดียวเท่านั้นที่เชื่อท่าน เมื่อยามที่ท่านไม่มีเพื่อนนางก็เป็นเพื่อนท่าน เมื่อศาสดาอายุได้ห้าสิบปี นางเคาะดีญะฮ์ก็สิ้นชีวิต ท่านจึงต้องสูญเสียเพื่อนผู้ซื่อสัตย์และจริงใจไป ท่านมีบุตรชายกับนางหลายคนแต่สิ้นชีวิตตั้งแต่ยังเล็กเสียหมด ลูก ๆ ที่เสียชีวิตนั้นเป็นชาย ส่วนที่เหลืออยู่เพียงสามคนนั้นคือบุตรหญิงที่ชื่อ ฟาฏิมะฮ์ (Fatimah) ซึ่งภายหลังได้สมรสกับท่านอะลี อุมมุกุลซูม (Ummukulzum) และซัยนับ ซึ่งต่อมาได้เป็นภรรยาของท่าน อุสมานซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ (Khaliph) ท่านที่สาม1
หลังจากแต่งงานกับนางเคาะดีญะฮ์แล้ว มุฮัมมัดก็มักจะไปที่ถ้ำฮิรอ (Hira) และใช้เวลาอยู่ที่นั่นเดือนหนึ่งทุก ๆ ปีเพื่อแสวงหาความสงบ คืนหนึ่งขณะที่ท่านนอนอยู่ในถ้ำก็ได้ยินเสียงหนึ่งพูดกับท่านและสั่งให้ท่านอ่าน ท่านตัวสั่นด้วยความกลัวและตอบว่าท่านอ่านหนังสือไม่เป็น เสียงนั้นก็บอกอีกถึงสามครั้ง ครั้งที่สามนี้มุฮัมมัดจึงได้อ่านในนามแห่งอัลลอฮ์ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ถูกประทานมาให้ท่านครั้งแรกในเดือนเราะมาฎอน
มุฮัมมัดได้รับมอบหน้าที่ศาสดาผู้ประกาศศาสนาเมื่ออายุได้สี่สิบปี ท่านเริ่มเทศนาคำสอนของอิสลามในหมู่ประชาชนในเมืองมักกะฮ์ คำสอนของท่านนบีมีดังนี้ "พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้สร้างและเนรมิต พระองค์เป็นผู้นำชีวิตและความตายมาให้ ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์" ท่านเน้นถึงความเป็นหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (Tawhid) อันเป็นหลักสำคัญของศาสนาอิสลาม ท่านกล่าวว่าผู้คนควรเลิกบูชารูปเคารพเสีย ภรรยาของท่านคือเคาะดีญะฮ์เป็นคนแรกที่เลิกบูชารูปเคารพและยอมรับคำสั่งสอนของท่าน ต่อไปก็คือท่านอะลี อบูบักร์ อุษมาน อับดุรเราะห์มาน ซัยต์ อัซซุบัยร์ และ ฎ็อลละฮ์ เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนผู้เข้ารับอิสลามก็เพิ่มขึ้น ภายในเวลาสามหรือสี่ปีก็มีผู้เข้ารักศาสนาอิสลามเกือบสี่สิบคน
ความสำเร็จของท่านศาสดามุฮัมมัดทำให้เผ่ากุร็อยช์ไม่พอใจ ครั้งแรกคนเหล่านั้นพากันหัวเราะเยาะ แต่เมื่อท่านศาสดาแสดงความกระตือรือร้นอย่างเด็ดเดี่ยวในการที่จะสั่งสอนคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็เริ่มปฏิบัติต่อท่านและสานุศิษย์ของท่านอย่างร้ายกาจ ตระกูลกุร็อยช์ซึ่งครองมักกะฮ์อยู่ขณะนั้นได้ทำการต่อต้านคำสอนใหม่ของอิสลามพอ ๆ กับที่ได้ทำการต่อต้านการปฏิวัติด้านสังคมและการปกครองที่ท่านศาสดาดำเนินการอยู่ในขณะนั้น คำสั่งสอนของท่านศาสดา เปรียบเสมือนการฟาดฟันลงตรงรากเง่าของความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขา เพราะเป็นคำสอนที่ปฏิเสธเทพเจ้าเก่า ๆ ทั้งหมด คนเหล่านั้นเป็นพวกถอยหลังเข้าคลองจึงไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงศาสนาและสังคมของพวกตนที่มีมาแต่เดิม นอกจากนั้นยังมีพวกนักบวชในตระกูลกุร็อยช์ที่คิดว่าการที่อิสลามมีอำนาจขึ้นนั้นย่อมหมายถึงความพินาศของคน พวกเขาจึงยุยงตระกูลกุร็อยช์ให้ต่อต้านท่านศาสดา อีกประการหนึ่งคนตระกูลนี้มีหน้าที่ดูแลสถานกะอ์บะฮ์อันเป็นที่มาของรายได้ของพวกเขา
ฉะนั้นพวกเขาจึงเกรงว่าถ้าผู้คนหันไปหาอิสลามกันเสียหมด สถานที่นั้นก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปและพวกคนก็จะเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย ฉะนั้นคนเหล่านี้จึงได้แสดงความกริ้วโกรธต่อพวกทาส คนอ่อนแอ และคนยากจนที่ไร้ที่พึ่งพิง และผู้ที่เข้ารับอิสลามต้องถูกจับไปทรมานให้ตากแดดอันร้อนระอุ และให้นอนบนผืนทรายที่ร้อนจัดหรือบนเนินหินที่ร้อนจัด ทั้งนี้เพื่อข่มขวัญและขู่เข็ญเขาเหล่านั้นมิให้ไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เหล่าผู้ศรัทธาเหล่านั้นต้องอพยพหลบหนีไปยัง อบิสสิเนีย ซึ่งกษัตริย์แห่งอบิสสิเนียได้ต้อนรับคนเหล่านั้นด้วยอัธยาศัยไมตรี และสร้างความโกรธแค้นแก่พวกกุร็อยช์ต่อชาวมุสลิมมากขึ้นเป็นทวีคูณ
คำปฏิญาณครั้งแรกและครั้งที่สองแห่งอะเกาะบะฮ์ (Aqabah)
มุฮัมมัดกำลังเฝ้ารอฤดูแสวงบุญปีใหม่อยู่ เมื่อถึงวันนั้นท่านก็ไปรออยู่ที่แห่งหนึ่ง คราวนี้มีสานุศิษย์ผู้มีศรัทธาเดินทางมามักกะฮ์สิบสองคน และท่านศาสดาได้ไปพบพวกเขาที่อะเกาะบะฮ์ คนเหล่านั้นได้ให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าท่านว่าเขาจะไม่บูชาสิ่งใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้า
บัดนี้ท่านศาสดาได้ฝากความหวังของท่านไว้ที่เมืองยัษริบ ในระหว่างนี้เองที่ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าโดยปาฏิหาริย์ (มิอรอจญ์ : Miraj) การเดินทางในเวลาค่ำคืนไปยังกรุงเยรูซาเล็มและได้รับคำสั่งจากพระองค์ให้สอนให้ผู้คนทำการนมัสการวันละห้าเวลา การบัญญัติให้มุสลิมปฏิบัตินมาซ(ละหมาด) ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากศาสดาได้กลับจากกรุงเยรูซาเล็มในคืนนั้น
ในปีต่อมาก็ได้มีคนเจ็ดคนเดินทางมาจากเมืองยัษริบเพื่อให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าท่านศาสดา ผู้เข้ารับอิสลามชุดใหม่นี้สัญญาว่าจะช่วยเหลือและปกป้องท่าน และได้เชิญให้ท่านเดินทางไปยังเมืองนั้น มูสาบ (Musab) ผู้ถูกส่งตัวไปสอนศาสนาอิสลามที่เมืองยัษริบ ก็ได้เดินทางมากับคนกลุ่มนี้ด้วย เขาได้บอกท่านศาสดาถึงความก้าวหน้าของอิสลามในเมืองนั้น ท่านจึงคิดอพยพไปยังเมืองยัษริบ แต่ก็มีเหตุผลอีกบางประการด้วยที่ทำให้ท่านจำต้องเดินทางไปจากถิ่นกำเนิดของท่าน
การอพยพโยกย้าย (ฮิจญ์เราะห์)
มักกะฮ์เป็นสถานที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยเนินเขา สภาพทางภูมิศาสตร์นับว่ามีอิทธิพลต่อผู้คนในเมืองเป็นอย่างมากทีเดียว ชาวมักกะฮ์มักเป็นคนอารมณ์ร้ายและไม่ค่อยมีความคิดที่ลึกซึ้ง ตรงกันข้ามยัษริบเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชผักผลไม้มากชนิด ดินฟ้าอากาศก็ไม่ทารุณเหมือนมักกะฮ์ ทำให้ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน มีความเกรงใจและช่างคิด เพราะฉะนั้นในระยะต้นของการเผยแพร่อิสลาม มะดีนะฮ์จึงเป็นที่ ๆ เหมาะสมมากกว่ามักกะฮ์ ในมะดีนะฮ์ไม่มีพวกนักบวชคอยต่อต้านความเจริญเติบโตของอิสลามเหมือนในมักกะฮ์ ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะสั่งสอนศาสนาอิสลามมากกว่าที่อื่น
นอกจากนั้นในเมืองนี้ยังมีชาวยิวอาศัยอยู่ด้วย พวกยิวถือว่ามุฮัมมัดเป็นผู้สนับสนุนคัมภีร์ของพวกตน ฉะนั้นพวกเขาจึงรอต้อนรับท่านศาสดาด้วยความกระตือรือร้น
ท่านศาสดาได้สั่งสานุศิษย์ของท่านให้โยกย้ายไปอยู่ที่เมืองยัษริบ ชาวมุสลิมเริ่มขายทรัพย์สมบัติของพวกตนและเริ่มทยอยกันไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อพวกกุร็อยช์รู้เข้าก็โกรธแค้นจะเอาชีวิตท่านศาสดาเสียให้ได้ แต่ท่านก็ได้รับการเตือนจากผู้หวังดีได้ทันเวลา ท่านศาสดาพร้อมด้วย อบูบักร์ และอะลียังรอคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในเมืองมักกะฮ์ เมื่ออันตรายรุนแรงถึงจุดสุดยอด และคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าได้มาถึง ท่านจึงได้ตัดสินใจที่จะอพยพไปยังเมืองยัษริบ ท่านได้หลบหนีออกไปกับอบูบักร์ในตอนพลบค่ำ โดยไปหลบอยู่ในถ้ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมักกะฮ์นัก เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงยัษริบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม คศ. 622 เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่าการอพยพ หรือฮิจเราะห์อันเป็นการเริ่มต้นศักราชแห่งอิสลามของชาวมุสลิม
นับตั้งแต่นั้นมาเวลาแห่งการประหัตประหารชาวมุสลิมในเมืองมักกะฮ์ก็ได้สิ้นสุดลง และยุคแห่งเมืองมะดีนะห์ก็เริ่มต้นขึ้น ภารกิจของท่านศาสดายังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นแต่ความสำเร็จก็เริ่มขึ้นแล้วที่มะดีนะฮ์ ท่านศาสดาไม่เพียงแต่ได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติเท่านั้น แต่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของชุมชนอีกด้วย สถานะและอำนาจของท่านศาสดาก็เพิ่มขึ้น และอิสลามก็ได้ตั้งหลักปักฐานมั่นคงขึ้นทุกวัน ณ เมืองนี้ท่านศาสดามีอิสรภาพที่จะเทศนาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางผู้หลงผิด ที่ในที่สุดก็หันมามีศรัทธาในอิสลามมากขึ้นและได้ขยายออกไปเรื่อย ๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างท่านศาสดากับชาวยิว
ท่านศาสดาได้ให้สัญญาแก่ชาวยิวซึ่งบ่งว่าพวกเขาจะได้รับประกันสิทธิทางการปกครองและศาสนา ชาวยิวก็ให้ประกันว่าพวกเขาจะไม่ทำอันตรายใด แก่ชาวมุสลิม ยิ่งกว่านั้นพวกเขาจะช่วยมุสลิมด้วยถ้าพวกมุสลิมถูกผู้ใดโจมตี ก่อนที่ท่านศาสดาจะมายังเมืองมะดีนะฮ์ชาวยิวในมะดีนะฮ์ก็รู้แล้วจากคัมภีร์ของเขาว่าจะมีศาสดามาและเมื่อท่านศาสดามุฮัมมัดมาอยู่ท่างกลางพวกเขา พวกเขาก็รู้ว่านี่ต้องเป็นศาสดาที่ถูกกล่าวถึงนั้นเอง แต่แล้วพวกยิวก็มิได้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ เมื่ออิสลามมีอำนาจมากขึ้น พวกเขาก็คิดว่านั่นเป็นความประสงค์ร้ายต่อความรุ่งเรืองทางด้านการค้า และเศรษฐกิจของพวกเขา ในไม่ช้าพวกเขาก็ลุกขึ้นต่อต้านอิสลาม ขั้นแรกพวกเขาพยายามจะก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่ชนเผ่า ก็ไปติดต่อกับพวกกุร็อยช์แห่งมักกะฮ์ ในระหว่างสงครามบัดร์พวกยิว ก็ไม่ได้ช่วยเหลือมุสลิมตามที่บ่งไว้ในสนธิสัญญา พอเสร็จสงครามบัดร์เท่านั้น ก็อบ (Qab) หัวหน้าชาวยิวก็ได้ประกาศเป็นศัตรูกับมุสลิมอย่างเปิดเผยและได้ติดต่ออย่างลับ ๆ กับอบูซุฟยานแห่งมักกะฮ์ และถึงกับพยายามจะฆ่าท่านศาสดาด้วย ในบรรดาชาวยิวสามกลุ่มคือ กลุ่มบนู (ลูกหลานของ) กอยนุกออ์ บนูนะฎิร และบนูกุร็อยช์นั้น พวกบนูกอยนุกออ์ (Banu Quinukah) เป็นพวกที่มั่งคั่งที่สุดและเป็นกลุ่มแรกที่ละเมิดสนธิสัญญา ท่านศาสดาพยายามที่จะเจรจากับพวกเขาโดยดีแต่ก็ไม่มีผลจึงต้องใช้กำลังทหารไปล้อมยิวพวกกอยนุกออ์ไว้และผลต่อมาก็คือต้องขับไล่พวกยิวออกจากเมืองมะดีนะฮ์ ในปีที่สามแห่ง ฮศ. ก็อบก็ถูกประหารชีวิต เนื่องจากทำการกบฎต่อมะดีนะฮ์และต่อชาวมุสลิม
ในระหว่างสงครามอุฮุด พวกเขาทรยศต่อมุสลิม ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการยกเว้นจากการเนรเทศแต่ในไม่ช้าพวกเขาก็ละเมิดคำสัญญาไปร่วมกับพวกกุร็อยช์อย่างเปิดเผย เพื่อที่จะต่อต้านมุสลิมและเร่งให้เกิดสงครามคูเมืองขึ้น ในขณะที่มะดีนะฮ์ถูกล้อม พวกเขาก็ก่อการร้ายขึ้นในเมืองจนถึงกับนองเลือด หลังจากสงครามยิวกลุ่มบนูกุร็อยช์ก็ถูกสั่งให้ล้อมที่อยู่ของพวกเขาไว้ชาวยิวจึงยอมแพ้ และขอเจรจาไกล่เกลี่ย ท่านศาสดาได้ส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจในพวกเขาเองเป็นคนพิจารณา ผลของการตัดสินปรากฎว่า ผู้ชายสามสี่ร้อยคนถูกประหารชีวิตและคนที่เหลือก็ถูกเนรเทศไปยังซีเรีย เห็นได้ว่าชาวยิวทำการกบฏอย่างร้ายกาจ ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะก่อให้เกิดการฆ่าชาวมุสลิมจึงสมควรจะได้รับโทษเช่นนั้น แต่กระนั้นท่านศาสดาก็ยังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะประนีประนอมกับพวกเขา แต่ทุกครั้งพวกเขากลับลอบทำร้ายชาวมุสลิมลับหลัง
การทำฮัจญ์
ในที่สุดเวลาที่ท่านศาสดาจะไปเยือนมักกะฮ์ เพื่อทำฮัจญ์ได้ตามสนธิสัญญาหุดัยบียะฮ ก็มาถึง ท่านและผู้ติดตามได้ไปยังมักกะฮ์ และพวกกุร็อยช์ก็ได้ทิ้งเมืองไปตามสัญญา ปล่อยให้ท่านและพรรคพวกอยู่ในมักกะฮ์เป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นมุสลิมก็เดินทางกลับมามะดีนะฮ์
การสู้รบที่มุอ์ตะฮ์ (Mutah)
หลังจากกลับมาจากมักกะฮ์แล้วท่านศาสดาได้ส่งทูต 50 คนไปที่กลุ่มบนูซาลิม เพื่อเผยแพร่อิสลามแต่ทูตส่วนมากถูกฆ่าตาย หลังจากเหตุการณ์นี้ไม่นานท่านก็ส่งทูต 15 คนไปยังซันอัตลา (Dhat Atla) ในเขตแดนซีเรียอีกแต่ทูตถูกระดมยิงด้วยธนูจนสิ้นชีวิตหมด เหลือรอดชีวิตมาได้คนเดียว
ในขณะเดียวกันนี้ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ขึ้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งบังคับให้ท่านศาสดาต้องบุกเข้าไปในเขตแดนของโรมัน คือฑูตคนหนึ่งถูกผู้ปกครองเมืองมุอ์ตะฮ์ซึ่งเป็นคริสเตียนมีชื่อว่า ชูรอฮ์บิล (Shurahbil) ฆ่าตายในขณะที่เขากำลังเดินทางไปหาเจ้าชายแห่งแคว้นฆ็อสสานิด (Chasanid)ที่เมืองบัศเราะห์ (Basrah) การกระทำเช่นนี้เป็นภัยต่อความสงบระหว่างประเทศ ท่านศาสดาจึงสั่งให้ซัยด์ (Zaid) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของท่านนำทัพไปยังจุดที่ฑูตศาสดาผู้นั้นถูกฆ่าตายกองทัพของซัยด์และชูเราะฮ์บิลพบกันที่จุดนี้ และเกิดการต่อสู้อย่างดุเดือดขึ้น ซัยด์ และยะอฟัร และ อับดุลลอฮ์ สิ้นชีวิตลง แต่คอลิด (Khalid) ก็แก้ไขสถานการณ์ได้ทำให้กองทัพมุสลิมได้ชัยชนะฝ่ายข้าศึก
การพิชิตมักกะฮ์
สนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์ เป็นโอกาสให้ชนเผ่าคุซาอะฮ์ สามารถประกาศตัวเป็นฝ่ายท่านศาสดามุฮัมมัด และเผ่าบนูบักร์เข้าเป็นฝ่ายกุร็อยช์ได้ แต่เมื่อสนธิสัญญานั้นใช้บังคับอยู่ได้สองปี เผ่าบนูบักร์ซึ่งร่วมมือกับคนกลุ่มที่หนึ่งของพวกกุร็อยช์ ก็ได้เข้าโจมตีเผ่าคุซาอะฮ์ในเวลากลางคืน และฆ่าคนเหล่านั้นตายไปหลายคน ผู้แทนสี่สิบคนจากเผ่าคุซาอะฮ์จึงเข้าพบท่านศาสดา และแจ้งข่าวให้ท่านทราบ ครั้งแรกท่านได้ส่งทูตเจรจากับฝ่ายกุร็อยช์ โดยมีข้อเสนอดังนี้
(ก) พวกเขาต้องจ่ายค่าทำขวัญให้แก่เผ่าคุซาอะฮ์ตามสมควร
(ข) ให้ตัดการติดต่อทั้งหมดกับชนเผ่าบนูบักร์ หรือ
(ค) ประกาศสนธิสัญญาหุดัยบียะห์เป็นโมฆะ
พวกกุร็อยช์ยอมรับข้อเสนอ เมื่อท่านศาสดาทราบก็เห็นว่าไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องทำสงครามกับพวกกุร็อยช์ ท่านได้สั่งให้กองทัพของท่านเข้าโจมตีเมืองมักกะฮ์ทันที อบูซุฟยานจึงรู้ตัวว่าทำผิดไปที่ปฏิเสธทูตสันติ ดังนั้นจึงส่งทูตไปเจรจากับท่านศาสดาใหม่ แต่ท่านศาสดาก็ไม่รอเวลาอีก ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 630 ท่านได้เคลื่อนกองทัพซึ่งมีจำนวนคน 10,000 คนไปยังมักกะฮ์ อบูซุฟยานถูกจับตัวได้แต่ท่านศาสดาก็ได้ยกโทษให้แก่เขาผู้เคยเป็นศัตรูของท่านมาตลอดชีวิต ครั้นแล้วอบูซุฟยานก็ได้เข้ารับอิสลาม
ท่านศาสดาพิชิตมักกะฮ์บ้านเกิดของท่านได้โดยสันติไม่มีการนองเลือด ถึงแม้ว่าท่านและประชากรของท่านจะถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอดเวลาสิบสามปีโดยพวกกุร็อยช์ก็ตามแต่ เมื่อท่านเอาชนะได้ท่านก็แสดงความเมตตาและอภัยโทษให้แก่พวกเขา การประนีประนอมเช่นนี้เป็นนโยบายของท่านศาสดาตลอดมา และการพิชิตมักกะฮ์ได้นี้ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของอิสลาม
การทำฮัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่านศาสดา
ในวันที่ 25 เดือนซุลฮิจญะห์ ในปีที่ 10 ศาสดามุฮัมมัด และบรรดาภรรยาของท่านได้ออกเดินทางไปมักกะฮ์ ติดตามด้วยประชาชนราว 90,000 คน (นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า 14,000 คน) ท่านได้ออกเดินทางไปด้วยหัวใจที่ปลื้มปิติ และเมื่อเดินทางถึงซุลฮุลัยฟะฮ์ (Dhul Hulaifa) ในตอนสิ้นแสงตะวัน พวกเขาได้ค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงได้สวมใส่ชุดอิห์รอมเดินทางต่อไปยังมักกะฮ์ ในขณะที่ชาวมุสลิมเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์นั้น อะลี อิบนุ อบีฎอลิบ ได้เดินทางกลับมาจากยะมัน จึงได้เดินทางไปสมทบในพิธีฮัจญ์ด้วย
คำสอนครั้งสุดท้ายของศาสดา
ในวันที่ 8 ซุลฮิจญะห์ ศาสดามุฮัมมัดและบรรดามุสลิมได้ไปพักอยู่ที่ตำบลมินาและค้างอยู่ที่นั่น วันรุ่งขึ้นท่านได้ขึ้นอูฐเดินทางไปยังภูเขาอะรอฟะฮ ได้ตั้งกระโจมพักอยู่ตรงด้านตะวันออกของภูเขาตรงจุดนี้เรียกกันว่านะมีรอฮ ในตอนเที่ยงท่านได้เดินทางไปถึงภูเขานูร ณ ที่นี้เองท่านได้นั่งบนหลังอูฐ และเริ่มเทศนาสั่งสอนชาวมุสลิมด้วยเสียงอันดัง โดยมี เราะบีอะฮ อิบนุ อุมัยยะฮ อิบนุ เคาะลัฟ (Rabiah ibn Umayyah ibn Khalaf) คอยพูดซ้ำทีละประโยค ศาสดาเริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าขอบคุณพระองค์แล้วท่านก็กล่าวสุนทรพจน์ดังต่อไปนี้ :
" โอ้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังคำพูดของฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันจะได้พบกับพวกท่าน ในโอกาสเช่นนี้อีกเมื่อไร โอ้ท่านทั้งหลายชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นสิ่งที่คนหนึ่งคนใดจะมาล่วงละเมิดมิได้ จนกว่าพวกท่านจะได้พบกับผู้อภิบาลเสมือนกับวันบริสุทธิ์นี้ และเดือนนี้เป็นเวลาที่ต้องห้ามสำหรับพวกท่านและเมืองนี้ก็เป็นเมืองต้องห้ามสำหรับพวกเท่านทั้งหลาย พวกท่านทั้งหลายจะต้องได้รับการสอบสวนจากองค์พระผู้อภิบาลของพวกท่านในกิจการงานทุกอย่างที่พวกท่านได้กระทำไว้
โอ้ประชาชนทั้งหลายพวกท่านทั้งหลายมีสิทธิที่ได้รับมอบหมายเหนือฝ่ายสตรี และฝ่ายสตรีก็มีสิทธิเหนือฝ่ายชายเช่นกันในหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย ดังนั้นพวกท่านจงได้ปกป้องดูแลภรรยาของพวกท่านด้วยความรักความเมตตาเถิด แน่นอนใครที่ทำได้เช่นนั้นก็เท่ากับเขาได้ปกครองดูแลภรรยของเขาเอาไว้ให้อยู่ในความพิทักษ์รักษาของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านทั้งหลายจงรักษาความศรัทธาเชื่อมั่นให้คงไว้ในจิตใจของพวกท่าน และจงหลีกเลี่ยงออกห่างจากเรื่องบาปกรรม และความชั่ว ดอกเบี้ยหรือการให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้าม สำหรับลูกหนี้ให้ส่งคืนเฉพาะเงินในจำนวนที่ยืมมาและเรื่องของดอกเบี้ยที่จำเป็นจะต้องถูกยกเลิกคือ ดอกเบี้ยของอับบาส อิบนุ อบูฏอลิบ (Abbas Ibn Abutalib)
นับแต่นี้ต่อไปเรื่องของการแก้แค้นทดแทนกันด้วยเลือด เช่นในสมัยของยุคป่าเถื่อน เป็นเรื่องต้องห้าม การอาฆาต จองล้างจองผลาญกันด้วยเลือดต้องสิ้นสุดกันเสียที เริ่มต้นด้วยเรื่องการฆาตกรรมของอิบนุเราะบีอะฮ อิบนุ ฮาริษ (Ibn Rabia-h ibn Harith)
โอ้ประชาชนทั้งหลาย บรรดาข้าทาสคนใช้ของพวกท่านที่อยู่ในความดูแลของพวกท่านนั้นจงเลี้ยงดูพวกเขาเช่นอาหารที่พวกท่านรับประทาน และให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขาด้วยเครื่องนุ่งห่มที่พวกท่านใช้ หากพวกเขาได้กระทำในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดชนิดที่ท่านไม่ปรารถนาที่จะอภัยให้พวกเขาก็จงแยกทางกับเขาเสีย อย่าทำร้ายเฆี่ยนตีทำทารุณพวกเขา เพราะเขาต่างก็เป็นบ่าวของพระองค์เช่นเดียวกับพวกเรา
โอ้ประชาชนทั้งหลายมารร้ายนั้นได้หมดสิ้นความหวังทั้งมวล ที่จะได้รับการเคารพบูชาในดินแดนของพวกท่านแล้ว แต่กระนั้นก็ตามมันยังเป็นห่วงที่จะกำหนดการกระทำอันต่ำต้อยของพวกท่านอยู่ เพราะฉะนั้นจงระวังมันไว้เถิด เพื่อความปลอดภัยแห่งตัวท่านและศาสดาของท่าน
โอ้ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านจงรำลึกและจดจำในสิ่งที่ฉันพูด พวกท่านต้องรำลึกเสมอว่า มุสลิมทุกคนนั้นมีฐานะเป็นพี่น้องกัน พวกท่านทั้งหลายต่างมีความเท่าเทียมกัน และขอให้ทุกคนมีความพอใจในสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบที่เรามีอยู่เสมอหน้ากัน พวกท่านแต่ละคนล้วนแต่เป็นสมาชิกของสังคมพี่น้องเดียวกันจงปกป้องตัวของท่านให้ห่างไกลจากความอยุติธรรมในทุกกรณี ขอให้บุคคลที่อยู่ที่นี้จงนำสิ่งที่ได้ยินจากฉันไปบอกเล่าแก่บุคคลที่เขาไม่ได้มาอยู่ ณ ที่นี้เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าคนที่ไม่ได้รับการบอกเล่านั้นอาจมีความจดจำได้ดีกว่าบุคคลที่ได้ยินไปจากฉันโดยตรงก็เป็นได้ และผู้ที่ได้รับความไว้วางใจเขาจะต้องไม่ให้ผู้ที่ไว้วางใจเขาประสบความผิดหวัง
โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลายหากเมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องจากพวกท่านไปแล้ว พวกท่านจงอย่าได้หันกลับไปต่อสู้เป็นศัตรูหลั่งเลือดกัน เหมือนอย่างเช่นสมัยแห่งความโง่เขลา ดังที่ได้ผ่านมา แท้จริงฉันได้มอบสิ่งหนึ่งแก่พวกท่านทั้งหลายซึ่งหากพวกท่านยึดเอาไว้อย่างมั่นคงแล้ว ท่านทั้งหลายจะไม่หลงออกไปสู่แนวทางที่เหลวไหลเป็นอันขาด สิ่งนั้นคือ อัลกุรอาน และซุนนะฮของฉัน
โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านนั้นมีพระองค์เดียว ต้นตระกูลของพวกท่านก็สืบมาจากเชื้อสายเดียวกัน นั่งคืออาดัม และอาดัมนั้นถูกสร้างมาจากดิน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้านั้นคือผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ มากที่สุด คนอาหรับก็หาใช่จะเป็นคนดีเลิศเหนือคนชาติอื่น ๆ นอกจากพวกเขาจะมีความยำเกรงมากกว่าเท่านั้น
โอ้ ท่านทั้งหลายจงสดับฟังถ้อยคำของฉันให้ดี จงรู้เถิดว่ามวลมุสลิมนั้น ย่อมเป็นพี่น้องกันและจงรู้เถิดว่า บรรดามุสลิมก็คือภราดรภาพอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีสิ่งใดที่เป็นของพี่น้องมุสลิมด้วยกัน จะเป็นของมุสลิมโดยถูกต้อง นอกจากว่าเขาผู้นั้นจะให้โดยเต็มใจ และไม่คิดมูลค่า เพราะฉะนั้นจงอย่ากระทำการอยุติธรรมต่อตัวของท่านเอง
โอ้ พระผู้เป็นเจ้าข้าพระองค์ได้ประกาศสัจธรรมออกเผยแพร่แล้ว โอ้องค์พระผู้อภิบาล ขอได้โปรดเป็นพยานให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"
เมื่อศาสดาเสร็จจากการให้โอวาทครั้งนี้แล้ว ท่านได้ลงจากหลังอูฐ ซึ่งเป็นพาหนะของท่านเพื่อทำนมาซซุฮ์ริ (นมัสการในช่วงบ่าย) และท่านได้นมาซอัสริด้วย (นมัสการในช่วงตะวันคล้อย) ท่านศาสดาได้สำนึกในพระเมตตาจากองค์พระผู้อภิบาล ที่ได้ทรงประทานความดีงามมากมายให้แก่ตัวท่าน และผลงานของท่าน และได้ให้เกียรติต่อการเป็นศาสนทูตของท่าน และท่านได้อ่านโองการจากคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 4 ซึ่งมีข้อความว่า "ในวันนี้ข้าได้ให้ศาสนาของข้าแก่พวกเจ้าไว้อย่างครบครัน ได้มอบกรุณาธิคุณของข้าให้แก่พวกเจ้าไว้อย่างครบถ้วน และข้ายินดีเลือกเฟ้นให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า"
ท่านอบูบักร์เมื่อได้ยินท่านศาสดาอ่านโองการจากคัมภีร์อัลกุรอานท่านก็เกิดความเข้าใจ และทราบความหมายเป็นอย่างดีจากอายะฮ์ที่นำมานี้ เป็นสัญญาณบอกให้รู้ล่วงหน้าแล้วว่าท่านได้มาถึงช่วงปลายของชีวิต อบูบักร์รู้สึกไม่สบายใจ ท่านได้แอบร้องไห้อยู่เงียบ ๆ โอวาทของท่านแม้จะเป็นโอวาทที่สั้น แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าบรรจุด้วยถ้อยคำตักเตือนที่ทรงคุณมหาศาล ชาวมุสลิมเรียกสุนทรพจน์ครั้งนี้ว่าคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย
ศาสดามุฮัมมัด ได้ออกจากทุ่งอารอฟะฮ์ไปค้างคืนที่มุซดะลีฟะฮ์ในตอนเช้าท่านจึงเดินทางเข้าสู่มินา เพื่อเตรียมตัวที่จะขว้างเสาหิน อันเป็นสัญลักษณ์ของชัยฎอนมารร้าย เมื่อมาถึงกระโจมที่พักท่านได้ทำกุรบ่าน (การเชือดพลี) 63 ตัว ตามอายุของท่านขณะนั้น การทำฮัจญ์ครั้งนี้บางครั้งมีผู้เรียกว่า "การทำฮัจญ์อำลา" (ฮัจญะตุลวะดาฮ์) อันที่จริงนี่เป็นการฮัจญ์ใหญ่ครั้งเดียวของท่าน ที่เรียกดังนี้เพราะครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านได้เห็นนครมักกะฮ์ ปีนี้เป็นปีที่สิบเอ็ดของศักราชอิสลาม ศาสดามุฮัมมัด เริ่มมีอาการป่วยไข้เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ท่านก็ไม่ได้หยุดยั้งในการคิดใคร่ครวญหาทางปกป้องศาสนาอิสลามให้พ้นจากภัยของศัตรู
ในรุ่งเช้าวันจันทร์วันหนึ่ง อาการอ่อนเพลียและไข้ของท่านศาสดาได้กำเริบสูงขึ้น และอาการเริ่มทรุดลงตามลำดับ ท่านทราบดีว่าเวลาที่ท่านได้กลับไปสู่พระผู้อภิบาลได้ใกล้เข้ามาแล้วและด้วยสภาพที่อ่อนระโหยนั้น ท่านได้วิงวอนออกมาด้วยเสียงที่แผ่วเบาว่า "โอ้พระผู้อภิบาล ขอทรงโปรดช่วยเหลือข้าพระองค์ให้พ้นจากความทรมานในความตายด้วยเถิด" และในที่สุดท่านก็ได้เสียชีวิตในวันจันทร์ที่สิบสองของเดือนเราะบิอุลเอาวัลในปีที่สิบเอ็ดหลังจากปีฮิจญเราะห์ (วันที่ 8 เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 632) รวมอายุได้ 63 ปี
เมื่อข่าวศาสดาสิ้นชีวิตแพร่ขยายออกไปบรรดามุสลิมต่างเร่งรีบมายังมัสญิด เพื่อสืบให้รู้แน่ชัดว่าข่าวที่พวกเขาได้รับนั้นเป็นความจริงแค่ไหน เพราะไม่มีใครอยากเชื่อว่าศาสดาได้จากไปแล้วสหายคนสนิทของท่าน และเป็นพ่อตาของท่านคือ อุมัร อิบนุ อัล ค็อฏฏ็อบตกตะลึงต่อข่าวนี้ ท่านถึงกับชักดาบออกมาจากฝักพลางร้องประกาศว่าใครขืนพูดว่าศาสดาตายฉันจะตัดคอคนพูดทันที ขณะที่เกิดเหตุการณ์สับสนวุ่นวายกันอยู่นี้มีสาวกของศาสดาคนหนึ่งได้รีบนำเอาข่าวการสิ้นชีวิต ไปแจ้งให้อบูบักร์สหายคนสนิท และเป็นพ่อตาของท่านอีกคนหนึ่งให้ทราบ และท่านอบูบักร์ก็ได้รีบรุดมายังบ้านของท่านศาสดาท่านได้ออกไปยืนอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของมันซิดและได้ประกาศแก่ผู้ชุมนุมว่า "หากพวกท่านมีความเคารพต่อท่านศาสดามุฮัมมัดอย่างจริงใจพึงรู้เถิดว่ามุฮัมมัดได้สิ้นชีวิตแล้ว แต่ถ้าหากท่านมีความเคารพบูชาต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้วขอให้รู้เถิดว่าพระเจ้าทรงยั่งยืนไม่มีการดับสลาย" แล้วท่านอบูบักร์ก็ได้อัญเชิญคัมภีร์ อัลกุรอาน เพื่อประกาศให้บรรดาคนทั่วไป ณ ที่นั้นได้รำลึกและเตือนสติว่า "และมุฮัมมัดไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นศาสนทูตคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีบรรดาศาสนทูตที่ได้ล่วงลับไปแล้วเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นหากว่าเขาได้ตายลงหรือถูกฆ่าตายพวกเจ้าก็ไม่ควรที่จะหันกลับไปสู่ศาสนาเดิม" (อัลกุรอาน ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน อายะฮ 144)
เมื่อคำประกาศนี้สิ้นสุดลง บรรดามุสลิมก็ได้คลายความสับสนว้าวุ่นทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ต่างเคยได้ยินโองการนี้มานับครั้งไม่ถ้วนก่อนที่อบูบักร์จะอัญเชิญมาเตือนกัน พวกเขายอมรับไม่ได้ก็เพราะว่าพวกเขาได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของศาสดาในเวลากระทันหัน และรวดเร็วโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน มาบัดนี้พวกเขาไม่สงสัยอีกแล้วว่า ศาสดาได้จากพวกเขาแล้ว อย่างไม่มีวันกลับเช่นเดียวกับบรรดาศาสดาอื่น ๆ ในอดีต