Thursday, September 10, 2009

รอมะฎอนและการถือศีลอด ดีมากอยากให้อ่าน



รอมฏอนกะรีม : รอมะฎอนและการถือศีลอด ดีมากอยากให้อ่าน
มุสลิมไทยดอทคอม รอมะฎอนและการถือศีลอด
www.muslimthai.com

รอมะฎอนและการถือศีลอด
(สรุปเนื้อหาจาก islam-qa.com )

หัฟเศาะฮฺ อัล-มุสลิมาต ผู้แปล

(คำถามหมายเลข 26862) ทำไมต้องถือศีลอด ?

-เราต้องระลึกว่า อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาล รวมถึงมนุษย์ด้วย และพระองค์ได้ให้อิสลามเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ผู้สร้างย่อมรู้ดีที่สุดว่าอะไรเหมาะสมที่สุดแก่สิ่งถูกสร้าง แนวทางของพระองค์และกฎเกณฑ์ของพระองค์ย่อมดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด


- สิ่งที่อัลลอฮฺกำหนดล้วนแฝงไว้ด้วยความมุ่งหมายและเหตุผลอันยิ่งใหญ่ เราอาจจะเข้าใจหรืออาจจะไม่เข้าใจก็ได้ เพราะเราก็เป็นสิ่งที่พระองค์สร้างเช่นกัน

- ความมุ่งหมายและเหตุผลของการถือศีลอด ตามที่พระองค์บอกไว้ก็คือ เพื่อผู้ศรัทธาจะได้ตักฺวา เป็น มุตตะกูน ตามอายะฮฺ 183 ของสูเราะฮฺอัล-บะเก็าะเราะฮฺ

- จากการที่เราอดอาหาร น้ำ และอดกลั้นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทำให้เรารู้สึกจำเป็นต้องขอบคุณอัลลอฮฺอย่างยิ่ง ที่ได้ให้อาหารเรากิน ให้น้ำเราดื่ม ให้ภริยาเราได้มีความสุขจากนาง

- เป็นการฝึกตัวเองที่จะละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามด้วยความเต็มใจ เพราะกลัวการลงโทษอันเจ็บปวดยิ่งจากพระองค์

- ฝึกควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ฝึกให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น สงสารคนยากจนมากขึ้น ฝึกฝนการมีมารยาทที่ดีมากขึ้น

-เป็นการลดอำนาจ ความสามารถ หรืออิทธิพลของชัยฏอนให้น้อยลง เนื่องจากชัยฏอนนั้นวนเวียนอยู่ในหมู่มนุษย์เหมือนกระแสเลือดในร่างกาย การถือศีลอดเหมือนกับเป็นการทำให้เส้นทางไหลเวียนของชัยฏอนนั้นคับแคบลง เพราะฉะนั้น จิตใจจะถูกกระตุ้นให้กระทำในสิ่งที่ดี และละเว้นการทำชั่ว

- เป็นฝึกให้ระลึกเสมอว่าอัลลอฮฺกำลังมองดูเราอยู่

- เป็นฝึกให้รู้จักและคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตให้เข้าใกล้อัลลอฮฺมากขึ้นตลอดเวลา

(คำถามหมายเลข 3455) ให้ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เข้าใกล้อัลลอฮฺมากที่สุด ท่านรสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม จะทำอิบาดะฮฺทุกอย่างในร่อมะฎอนมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัล-กุรอาน ทำศ่อดะเก็าะฮฺ การทำดีต่อผู้อื่น การขอดุอฺาอ์ การซิกรุ้ลลอฮฺ การอิอฺติกาฟ การละหมาดสุนัตต่างๆ และอื่นๆอีกหลายอย่าง

(คำถามหมายเลข 12468) เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับความดีงาม ความจำเริญ การอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ รางวัลสำหรับการทำความดีทั้งหลายจะเป็นทวีคูณ ความชั่วจะทำยาก ประตูทั้งหลายของสวรรค์จะถูกเปิด-ประตูนรกจะถูกปิด ชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ การสำนึกผิดของคนชั่วอัลลอฮฺจะตอบรับ ทำอิบาดะฮฺและความดีต่างๆให้มากๆ ละทิ้งสิ่งหะรอมและสิ่งที่เป็นบิดอฺะฮฺ

เร่งทำความดีให้มากๆก่อนที่ร่อมะฎอนจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ยืนหยัดและอดทนในการยึดมั่นอิสลาม ควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง ควบคุมหู ตา ลิ้น เท้า มือ และส่วนอื่นๆกระทั่งจิตใจไม่ให้ทำในสิ่งอัลลอฮฺไม่พอใจ แสวงหาคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือนในสิบคืนสุดท้าย



(คำถามหมายเลข 12598) เลี้ยงอาหารคนที่ถือศีลอด ได้ผลบุญเท่ากับคนที่ถือศีลอดด้วย (ได้ผลบุญสองเท่า คือส่วนหนึ่งของตัวเองที่ถือศีลอด และอีกส่วนหนึ่งที่เลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้อื่น)

(คำถามหมายเลข 12653) ชัยฏอนส่วนใหญ่ถูกล่ามโซ่ แต่ไม่ทุกตัว มิได้หมายความว่าชัยฎอนไม่มีอิทธิพลในการล่อลวงมนุษย์เลย เพียงแต่มีอิทธิพลน้อยลงหรืออ่อนแอลงในเดือนร่อมะฎอน

(คำถามหมายเลข 13934) เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ ในสวรรค์จะมี 8 ประตู และมีประตูหนึ่งที่มีชื่อว่า “อัรฺ-ร็อยยาน” จะเปิดให้ผู้ถืออดเท่านั้นเข้าผ่านเข้าไป เมื่อบรรดาผู้ถือศีลอดเข้าไปจนหมดแล้ว ประตู“อัรฺ-ร็อยยาน” ก็จะปิดล็อคเลย

ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนร่อมะฎอน ด้วยจิตใจที่มีความศรัทธามั่นและหวังในรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ความผิดต่างๆที่เขากระทำไปแล้วก่อนหน้านี้ จะได้รับการอภัยโทษ

การงานทุกอย่างของลูกหลานท่านนบีอฺาดัม อฺะลัยฮิสสะลาม เป็นของพวกเขา นอกจากการถือศีลอดเท่านั้นที่เป็นของอัลลอฮฺ

การถือศีลอดเป็นโล่ห์ป้องกันจากอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ความใคร่ หรือความอยากต่างๆ เมื่อมีใครมาหาเรื่องทำให้โกรธ ให้บอกผู้นั้นไปว่า“ฉันถือศีลอด” กลิ่นปากของผู้ถือศีลอดสำหรับอัลลอฮฺแล้วหอมยิ่งกว่ากลิ่นของชมดเชียง

ผู้ถือศีลอดจะมีช่วงเวลาที่ดีใจและเป็นสุขอย่างมาก คือ เวลาที่เขาละศีลอดกับเวลาที่เขาได้พบพระผู้อภิบาลของเขา

มะลาอิกะฮฺจะตามไปส่งบรรดาผู้ที่มีตักฺวาเข้าประตูสวรรค์ทุกประตู และเหล่ามะลาอิกะฮฺที่เฝ้าบรรดาประตูสวรรค์จะกล่าวสะลามแก่เขา จะเชื้อเชิญตอบรับเขาอย่างชื่นชมยินดี

(คำถามหมายเลข 14103) ดุอฺาอ์ละศีลอด ควรกล่าวตอนเข้าเวลามัฆริบแล้วก่อนละศีลอด เนื่องจากตอนนั้นยังอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดอยู่ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ดุอฺาอ์ถูกตอบรับ แต่มีหะดีษหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าดุอฺาอ์ละศีลอด อาจกล่าวหลังจากที่ละศีลอดแล้วคือดุอฺาอ์ที่ว่า“ความหิวกระหายได้ผ่านพ้นไปแล้ว เส้นโลหิตก็เปียกชุ่ม และรางวัลตอบแทนก็ได้รับการยืนยันอย่างแน่นอนแล้ว ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์”

(คำถามหมายเลข 26811) คนหนุ่มที่สามารถแต่งงานได้ก็ให้แต่งงานเลย เพราะจะช่วยลดสายตาจากการมองมากขึ้น และเป็นการปกป้องความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้บริสุทธิ์ห่างไกลจากสิ่งหะรอม แต่ถ้ายังไม่สามารถแต่งงานได้ก็ให้ถือศีลอด เพราะมันจะเป็นโล่ห์ป้องกันเขา

(คำถามหมายเลข 26869)ควรทำอย่างไรบ้างในร่อมะฎอน ?

-เริ่มวันใหม่กับอาหารสะหูรฺก่อนเวลาฟัจญรฺ ที่ดีคือก่อนเข้าเวลาละหมาดศุบหฺ

-เตรียมตัวให้พร้อมละหมาด ก่อนอะซานบอกเวลาศุบหฺ และไปให้ถึงมัสญิดก่อนอะซาน

-เมื่อเข้ามัสญิดแล้วละหมาดตะฮียะตุ้ลมัสญิดสองร็อกอฺะฮฺ แล้วนั่งขอดุอฺาอ์ หรืออ่านอัล-กุรอาน หรือซิกรุ้ลลอฮฺ เมื่อมุอัซซินอะซานเรียกร้องสู่การละหมาด ให้กล่าวรับอะซานทุกๆประโยค เมื่อจบอะซานให้กล่าวดุอฺาอ์หลังอะซานจบ แล้วละหมาดสุนนะฮฺระหว่างสองอะซาน(ระหว่างอะซานกับอิกฺอมะฮฺ) แล้วละหมาดสุนนะฮฺก่อนศุบหฺสองร็อกอฺะฮฺ เสร็จแล้วก็นั่งขอดุอฺาอ์และอ่านอัล-กุรอานไปเรื่อยๆจนกระทั่งอิกฺอมะฮฺ

-ละหมาดศุบหฺร่วมกัน หลังจากนั้นถ้าให้ดีก็นั่งซิกรุ้ลลอฮฺหรืออ่านอัล-กุรอานในมัสญิด รอจนเข้าเวลาฎุหา แล้วก็ละหมาดฎุหา เสร็จแล้วจะนอนพักเอาแรงสักครู่ก็ได้ เพื่อร่างกายจะได้กระปรี้กระเปร่าสดชื่นก่อนออกไปทำงาน และการนอนนั้นควรปฏิบัติตามสุนนะฮฺทั้งคำกล่าวและการปฏิบัติ

หลังจากนั้นก็ออกไปทำงาน ครั้นเมื่อถึงเวลาซุฮฺริก็ให้ไปมัสญิดแต่เนิ่นๆ พยายามไปให้ทันก่อนอะซาน หลังจากเตรียมตัวให้พร้อมละหมาดรวมถึงละหมาดสุนัตต่างๆแล้ว ก็ละหมาดสุนัต 4 ร็อกอฺะฮฺ 2 สะลาม(สุนนะฮฺก่อนฟัรฎูซุฮฺรฺ) หลังจากนั้นก็อ่านอัล-กุรอานไปเรื่อยๆจนกระทั่งอิกฺอมะฮฺ เมื่อร่วมกันละหมาดญะมาอฺะฮฺซุฮฺริเสร็จ ซิกรุ้ลลอฮฺเสร็จแล้ว ก็ละหมาดสุนนะฮฺ 2 ร็อกอฺะฮฺหลังซุฮฺริ

หลังจากนั้นก็ไปทำงานต่อจนเลิกงาน ออกจากที่ทำงานถ้าไม่ไปทำธุระที่ไหนก็ตรงไปมัสญิดเพื่อละหมาดอัศรฺ หลังจากนั้นอาจจะนั่งอ่านอัล-กุรอานต่อ หรือถ้ารู้สึกเพลียกพักสักงีบเพื่อร่างกายจะได้พร้อมที่จะไปละหมาดตะรอวีหฺในยามค่ำคืน

ก่อนอะซานมัฆริบ ควรเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนละศีลอด และถ้าเป็นไปได้ควรใช้เวลาช่วงนี้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัล-กุรอาน ขอดุอฺาอ์ ซิกรุ้ลลอฮฺ หรือการสนทนาที่เป็นประโยชน์กับภริยาและลูกๆ และที่ดียิ่งอีกอย่างหนึ่งในช่วงเวลาก่อนละศีลอดนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงอาหารละศีลอดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะนำอาหารไปเลี้ยงเอง นำเงินไปบริจาคสมทบทุนร่วมเลี้ยงละศีลอดแก่องค์กรมุสลิมทั้งหลาย

หลังจากละศีลอดเพียงเล็กน้อย(ด้วยอินทผลัม น้ำ ผลไม้ หรือนม) แล้วก็ไปร่วมกันละหมาดมัฆริบที่มัสญิด เมื่อละหมาดทั้งฟัรฎูและสุนัตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับบ้านไปกินอาหารแต่อย่ากินให้มากนัก

หลังจากนั้นลองหาหนทางเหมาะๆที่จะใช้เวลาร่วมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ หรือหนังสือเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติในด้านต่างๆ หรือพูดคุยกันในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน

คุยกันในเรื่องที่จะทำให้ห่างไกลจากสิ่งที่หะรอมที่มีในสื่อต่างๆทุกชนิด คุยกันในเรื่องที่จะทำให้เกรงกลัวอัลลอฮฺมากขึ้น อีมานต่อพระองค์มากขึ้น ยึดมั่นในอิสลามมากขึ้น เสียสละและใช้ชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺมากขึ้น เตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปตอบคำถามต่ออัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ

เตรียมตัวให้พร้อมต่อการละหมาดอิชาอ์ ไปมัสญิดก่อนเวลาอะซาน ทำอิบาดะฮฺต่างๆที่สมควรต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ละหมาดอิชาอ์และละหมาดตะรอวีหฺด้วยความตั้งใจจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นควรทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นความดีงามทั้งต่อตนเองและครอบครัว แต่ต้องไม่ลืมว่า ออกห่างจากสิ่งหะรอม ทำตัวเองและคนในครอบครัวให้เข้าใกล้อัลลอฮฺทุกวิถีทาง

ไม่ควรนอนดึก ถ้าได้อ่านอัล-กุรอานหรือหนังสือที่เป็นประโยชน์ก่อนนอนก็จะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในวันนั้นเรายังอ่านอัล-กุรอานไม่จบยุซอ์ก็อย่างเพิ่งนอน

สำหรับวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ดีที่สุดของสัปดาห์ ควรมีโปรแกรมพิเศษสำหรับวันนี้ เช่น

ไปมัสญิดแต่เนิ่นๆ อยู่ในมัสญิดหลังละหมาดอัศรฺแล้วเพื่ออ่านอัล-กุรอาน ขอดุอฺาอ์ ซิกรุ้ลลอฮฺ จนถึงชั่วโมงสุดท้ายของวันศุกร์ เพราะเป็นเวลาที่ดุอฺาอ์ถูกตอบรับ

สิบวันสุดท้ายของร่อมะฎอน มีอยู่คืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน คือ ลัยละตุ้ลก็อดรฺ และมีสุนนะฮฺให้อิอฺติกาฟที่มัสญิดในสิบวันสุดท้ายนี้ ใครที่ไม่สามารถอยู่อิอฺติกาฟ ที่มัสญิดได้ติดต่อกันทั้งสิบวัน ก็ให้ทำเท่าที่ทำได้

นี่เป็นเพียงคำแนะนำเล็กๆน้อยๆ ท่านทั้งหลายอาจจะทำในสิ่งที่ควรจะทำมากกว่านี้ เพื่อให้ตัวท่านและครอบครัวของพวกท่านเข้าใกล้อัลลอฮฺมากยิ่งๆขึ้น

(คำถามหมายเลข 37720) การบริจาคในเดือนร่อมะฎอนนั้นดีกว่าการบริจาคในเดือนอื่น แต่ยังไม่เคยพบในสุนนะฮฺที่ระบุว่าการบริจาคในสิบวันสุดท้ายดีกว่าวันอื่นๆ ทว่าการทำความดีจะดียิ่งขึ้นเมื่อทำในช่วงเวลาอันมีคุณค่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิบคืนสุดท้ายของร่อมะฎอนดีกว่าคืนอื่นๆ เนื่องจากหนึ่งในสิบคืนนั้นมี ลัยละตุ้ลก็อดรฺ ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน

โดยปกติท่านรสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นคนใจบุญศุลทานที่สุดอยู่แล้ว และท่านใจบุญศุลทานที่สุดในช่วงร่อมะฎอน

(คำถามหมายเลข 37745) ส่งเสริมให้ใช้สิวาก ถูกฟันตลอดเวลา ทั้งขณะถือศีลอดและไม่ถือศีลอด ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน และอนุญาตให้กลืนน้ำลายได้หลังจากที่ใช้ สิวาก ถูกฟันแล้ว แต่ต้องไม่มีอะไรหลุดออกมาจาก สิวาก นั้น ถ้ามีก็ให้แยกสิ่งนั้นทิ้งไป

(คำถามหมายเลข 38042) แนวทางของท่านรสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ในการละศีลอด คือ ท่านละศีลอดด้วยอินทผลัมสด ถ้าไม่มีก็ใช้อินทผลัมแห้ง ถ้าหาอิทผลัมไม่ได้ท่านก็ละศีลอดด้วยน้ำ แล้วท่านก็ไปละหมาดฟัรฎูมัฆริบที่มัสญิด หลังจากนั้นก็กลับไปละหมาดสุนัตที่บ้าน ไม่ทราบว่าท่านทานอาหารช่วงระหว่างหลังจากละหมาดฟัรฎูมัฆริบกับละหมาดสุนัตหรือไม่

(คำถามหมายเลข 38068) อาหารสะหูรฺสิ้นสุดที่เสียงอะซานศุบหฺ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของอาหารสะฮูรฺคือ เริ่มทานอาหารสะหูรฺจนถึงอะซานศุบหฺ ประมาณอ่านอัล-กุรอานห้าสิบอายะฮฺ โปรดดู อัล-บุคอรียฺ 1921, สูเราะฮฺ อัล-บะเก็าะเราะฮฺ : 187, อัล-บุคอรียฺ 1919, มุสลิม 1092,

(สมมุติว่า อะซานศุบหฺเวลา ประมาณ 05.00 น. อ่านอัล-กุรอาน 50 อายะฮฺใช้เวลาประมาณ 25 นาที เพราะฉะนั้นเวลาที่ดีที่สุดของอาหารสะหูรฺ คือประมาณ 04.35 – 05.00 น. นี่เป็นเพียงเวลาที่สมมุติขึ้นเป็นตัวอย่างเท่านั้น - ผู้แปล )

(คำถามหมายเลข 38221) ส่งเสริมให้ทำอุมเราะฮฺในเดือนร่อมะฎอน เพราะเทียบเท่ากับทำหัจญ์ โปรดดู อัล-บุคอรียฺ 1782 และมุสลิม 1256

(คำถามหมายเลข 50019) ให้รีบละศีลอด อย่าล่าช้า


(คำถามหมายเลข 50047) การเลี้ยงอาหารผู้ถือศีลอด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเลี้ยงผู้ถือศีลอดที่ยากจน จะเป็นคนรวยก็ได้ จะเป็นมหาเศรษฐี พระราชา หรือยาจกก็ได้ ขอเพียงคนเหล่านั้นถือศีลอด

(คำถามหมายเลข 50112) อย่าเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ทุกเวลานาทีให้หมดไปกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และอิบาดะฮฺต่อพระองค์ทุกรูปแบบให้มากๆ


กุรอาน

(คำถามหมายเลข 65754) ไม่บังคับว่าจะต้องอ่านอัล-กุรอานให้จบ 30 ญุซอ์ ในเดือนร่อมะฎอน แต่ถ้าทำได้ก็ดี เป็นเพียงแค่ส่งเสริมให้กระทำเท่านั้น

บรรดาสะละฟุศศอลิหฺมักจะขมักเขม้นอ่านอัล-กุรอานให้จบในเดือนร่อมะฎอน และไม่ใช่เพียงแค่จบเดียวเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น
อัล-อัสวัด เคยอ่านอัล-กุรอานในเดือนร่อมะฎอนจบทุกๆสองคืน

ท่านเก็าะตาดะฮฺ โดยปกติแล้วอ่านอัล-กุรอานจบภายในเจ็ดวัน แต่เมื่อถึงเดือนร่อมะฎอนท่านอ่านจบภายในสามวัน และเมื่อถึงสิบคืนสุดท้ายท่านอ่านจบ 30 ญุซอ์ทุกคืน

ท่านมุญาฮิด อ่านอัล-กุรอานจบ 30 ญุซอ์ทุกคืนในเดือนร่อมะฎอน
ท่านอฺะลียฺ อัล-อัซฺดียฺ อ่านอัล-กุรอานจบ 30 ญุซอ์ทุกคืนในเดือนร่อมะฎอน
ท่านอิมามชาฟิอียฺ เคยอ่านอัล-กุรอานจบ 30 ญุซอ์ในเดือนร่อมะฎอนถึงหกสิบเที่ยว

บิดาของท่าน อัล-กฺอสิม อิบนิ อัล-หาฟิซ อิบนิ อฺะสากิรฺ ละหมาดญะมาอฺะฮฺและอ่านอัล-กุรอานที่มัสญิดเป็นประจำ และอ่านอัล-กุรอานจบ 30 ญุซอ์ ทุกๆสัปดาห์ และจบทุกวันในเดือนร่อมะฎอน เป็นต้น

(คำถามหมายเลข 65955) ไม่มีดุอฺาอ์ตอนอาหารสะหูรฺ แต่ส่งเสริมให้ทานอาหารสะหูรฺในช่วงท้ายของคืน (โปรดดูในคำถามหมายเลข 38068) สมควรขอดุอฺาอ์ในช่วงเวลานี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดุอฺาอ์ถูกตอบรับ ไม่ใช่ดุอฺาอ์เนื่องจากอาหารสะหูรฺ ท่านรสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสั้ลลัม บอกว่าอัลลอฮฺจะลงมายังชั้นฟ้าชั้นต่ำสุดทุกคืนในช่วงท้ายของส่วนที่สามของกลางคืน แล้วอัลลอฮฺจะกล่าวว่า “ผู้ใดเรียกข้า ข้าจะขานรับเขา ผู้ใดขอสิ่งใดจากข้า ข้าจะให้สิ่งนั้นแก่เขา ผู้ใดขออภัยโทษจากข้า ข้าจะให้อภัยโทษแก่เขา” อัล-บุคอรียฺ 1094, มุสลิม 758

(คำถามหมายเลข 78591) บุคคลที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ไม่ถูกบังคับให้ถือศีลอด แต่ถ้าเต็มใจถือศีลอดเองก็จะได้รางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ถ้าไม่ถือก็ไม่เป็นบาป และไม่ต้องถือศีลอดชดใช้ที่ขาดไปเมื่อร่อมะฎอนของปีที่ผ่านมา

(คำถามหมายเลข 101582) เมื่ออะซานมัฆริบซึ่งเป็นเวลาเริ่มละศีลอด จะรับอะซานทีละประโยค หรือจะรีบละศีลอด ทำได้ทั้งสองอย่าง

การรับอะซานเป็นเพียงมุสตะหาบ(ส่งเสริมให้กระทำ) ไม่ใช่วาญิบ

ไม่เป็นที่ขัดแย้งกันเลยที่จะรีบละศีลอด และรับอะซานจากมุอัซซินทีละประโยค ผู้ที่ถือศีลอดสามารถรีบละศีลอดได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถกล่าวรับอะซานตามมุอัซซิน

(คำถามหมายเลข 106528) หะดีษที่บันทึกโดยอัล-บัยฮะกียฺ ในหนังสือ“ชุอับ อัล-อีมาน” รายงานโดยอับดุลลอฮฺ อิบนิ อบียฺ เอาฟา รฎิยั้ลลอฮุ อันฮุ ว่า ท่านรสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสั้ลลัม “การนอนของผู้ถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺ การเงียบของเขาเป็นตัสบีหฺ ดุอฺาอ์ของเขาจะถูกตอบรับ และการงานที่ดีทั้งหลายของเขาจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นทวีคูณ” เป็นหะดีษฎ่ออีฟ

(คำถามหมายเลข 66605) มุอัซซินควรรีบละศีลอดก่อนหรืออะซานก่อน ?

ถ้าหากมีคนจำนวนมากรอมุอัซซินอะซานเพื่อพวกเขาจะได้รีบละศีลอด มุอัซซินควรต้องรีบอะซานก่อน แต่ถ้าหากมุอัซซินรีบละศีลอดด้วยอาหารที่ง่ายๆ เช่น น้ำหรือนม โดยที่คนอื่นรอเพียงชั่วไม่กี่วินาที ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด

และถ้าเขาอยู่คนเดียวไม่ต้องรอใคร หรืออยู่กับหมู่คณะเล็กๆ เช่น อยู่ระหว่างการเดินทาง จะละศีลอดก่อนพร้อมๆกันแล้วอะซานทีหลังก็ได้

(รายละเอียดและตัวบทหลักฐาน ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดดูใน www.islam-qa.com ตามหมายเลขคำถามแต่ละข้อ)
……………………………….



พิมพ์จาก : http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?category=36&id=4191
วันที่ : 10 กันยายน 52 14:20:56
มุสลิมไทย http://www.muslimthai.com